วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2551

ครูอาจารย์ นักเรียนสำรองราชการ นักเรียนนายดาบ (จบ)


กลับหน้าแรก Blog



กลับหน้าแรกประวัติ


ครูอาจารย์

ครูอาจารย์ตามที่กล่าวมาแล้วว่า รวมอยู่ในโรงเรียนทหารบกแต่ดั้งเดิมมา ครั้นเมื่อเดือนมกราคม ร.ศ.๑๒๔ (พ.ศ.๒๔๔๘) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งกรมยุทธศึกษาขึ้นกรมหนึ่งขึ้นตรงต่อกรมยุทธนาธิการ และตั้งนายพันเอกพระสารสาสน์พลขันธ์ เมื่อครั้งยังเป็นนายร้อยเอกเยรินี อาจารย์โรงเรียนนายร้อยนั้นให้เป็นเจ้ากรม จึงได้ให้บรรดาครูอาจารย์ที่ประจำอยู่ในโรงเรียนนายร้อยและโรงเรียนนายสิบนั้นมาสังกัดขึ้นอยู่ในปกครองของกรุมยุทธศึกษา แต่ก็คงมีหน้าที่ไปสอนอยู่ในโรงเรียนนั้น ๆ ตามเดิม กรมยุทธศึกษานี้ เมื่อตั้งขึ้นแล้ว ก็ได้มีปลัดกรมและนายเวรกับเสมียนพนักงาน และเพิ่มครูอาจารย์มากขึ้นเป็นอันดับมา

เมื่อได้ขยายการสอนวิชานักเรียนนายร้อยกว้างขวางออก ตามที่กล่าวแล้วว่าได้เพิ่มวิชาทหารขึ้นอีกนั้น ครูที่จะสอนวิชาทหาร นอกจากเจ้ากรมยุทธศึกษาแล้ว ก็ไม่มีใครอีก จึงต้องให้มีครูอาสาสอนวิชาทหารทั้งวิชาสามัญบางอย่าง ซึ่งยังขาดครูอยู่นั้นขึ้นอีกด้วย ครูอาสาในขั้นต้นนั้นก็มีคือ

๑) นายพลโทพระยาวงษานุประพัทธ์ เมื่อครั้งยังดำรงยศเป็นนายร้อยเอกหม่อมราชวงศ์ สท้าน สอนวิชาป้อมค่าย

๒. นายเรือเอกหม่อมไพชยนต์ เทพ เมื่อครั้งยังดำรงยศเป็นนายเรือโทหม่อมราชวงศ์พิณ สอนวิชาสรรพาวุธวิธี

๓) นายพลตรีพระยาสุรเสนา เมื่อยังดำรงยศเป็นนายร้อยเอกพระศัลยุทธวิธีกรร สอนวิชาภูมิศาสตร์

๔) นอกจากนี้ยังมีนายทหารประจำกอง สอนแบบฝึกหัดและข้อบังคับอีกหลายนาย

นายทหารที่เป็นครูอาสาชั้นต้นนี้ ได้รับพระราชทานเงินรางวัลทุกวิชา

แต่เดิมครูประจำโรงเรียนก็มีสภาพเป็นพลเรือน ครั้นมาเมื่อเดือนพฤษภาคม ร.ศ.๑๒๑ กรมยุทธศึกษาได้ขอให้ครูแต่งตัวอย่างนายทหารได้ แต่นั้นมาครูที่อยู่ในกรมยุทธศึกษาก็มีโอกาสที่จะได้รับเครื่องแต่งตัวอย่างนายทหาร ตามเวลาอันสมควร และครูที่ได้รับเครื่องแต่งตัวอย่างนายทหารแล้ว ก็เลยมีเกียรติยศเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และได้เข้าไปรับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามได้ เหมือนเช่นนายทหารสัญญาบัตรแต่นั้นมา

ครั้นต่อมาถึงปี ร.ศ.๑๒๒ กลับยกเอาครูสำหรับนักเรียนนายร้อยมาสมทบโรงเรียนนายร้อย และครูสำหรับนักเรียนนายสิบไปสมทบโรงเรียนนายสิบตามเดิม แต่นี้มาครูโรงเรียนนายร้อยกับนายสิบเลยต่างสังกัดผู้บังคับบัญชาโดยตรงเป็นฝ่าย ๆ กันไป

ฝ่ายครูโรงเรียนนายร้อยนั้น เมื่อปราศจากผู้บังคับบัญชาโดยตรงเฉพาะครู คือเจ้ากรมยุทธศึกษานั้นมาแล้ว โรงเรียนก็ได้จัดให้มีครูใหญ่ขึ้นตำแหน่งหนึ่ง คือ นายพันตรีหลวงอุปเทศทวยหาญ (แย้ม) ตั้งแต่ครั้งยังเป็นนายพันตรีแย้ม

ครั้นเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ร.ศ.๑๒๕ นายพันตรีหลวงอุปเทศทวยหาญลาออกจากตำแหน่งครูใหญ่ ตำแหน่งครูใหญ่ก็เลยรวมอยู่ในหน้าที่ผู้บังคับการโรงเรียน เมื่อได้เปลี่ยนนายตำแหน่งผู้บังคับการเป็นผู้บัญชาการแล้ว ตำแหน่งครูใหญ่ก็รวมอยู่ในผู้บัญชาการโรงเรียนเหมือนกัน

ครั้นอยู่มาเมื่อปี ร.ศ.๑๒๖ (พ.ศ.๒๔๕๐) เป็นสมัยนายพลตรีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิศณุโลกประชานาถ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบก จึงได้ขอให้ครูมีโอกาสเป็นนายทหารสัญญาบัตร กรมยุทธนาธิการก็อนุญาตให้ แต่นั้นมาครูก็มีเขตที่จะได้เป็นนายทหารสัญญาบัตรโดยแท้ ตลอดมาจนทุกวันนี้

และในศกนั้นเอง ตามที่โรงเรียนนายร้อยได้แยกออกเป็น ๒ โรงเรียน โดยแน่นอนแล้ว จึงได้มีตำแหน่งหัวหน้าครูเพิ่มขึ้นในโรงเรียนทั้ง ๒ โรงเรียน โรงเรียนละ ๑ นาย หัวหน้าครูนี้มีหน้าที่ดูแลการศึกษาให้ดำเนินไปให้ถูกต้องตามข้อบังคับและแบบธรรมเนียม ส่วนวิธีจัดให้การศึกษาดำเนินไปอย่างใดนั้น เป็นหน้าที่ผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบกอำนวยการทั่วไป

นักเรียนสำรองราชการ

ตั้งแต่ปี ร.ศ.๑๒๒ (พ.ศ.๒๔๔๖) การทหารบกได้เจริญยิ่งขึ้นเป็นลำดับมา ความต้องการนายทหารสัญญาบัตรประจำกอง มีจำนวนเป็นอันมาก จนโดยลำพังนักเรียนนายร้อยที่จะสำเร็จวิชาออกเป็นนายทหารนั้น ก็หาทันความประสงค์ไม่ กรมยุทธนาธิการจึงได้ตั้งการฝึกหัดนักเรียนสำรองราชการขึ้นในโรงเรียนนายร้อย ซึ่งยอมรับนักเรียนประโยค ๒ และบางคราวก็รับนักเรียนแพทย์หรือครูกับพวกประเทศราช เข้าเป็นนักเรียนชนิดนี้ แต่ครูกับนายแพทย์ก็เป็นแต่นักเรียนพิเศษ นักเรียนเหล่านี้ให้ฝึกหัดเล่าเรียนวิชาทหารฝ่ายเดียว (วิชาสามัญไม่ต้องศึกษา) กำหนดเรียนแต่เพียง ๓ หรือ ๖ เดือนแล้วก็มีกรรมการสอบไล่ ในระหว่างที่เล่าเรียนอยู่นั้น นักเรียนสำรองราชการสามัญ (ไม่ใช่พิเศษ) ได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๓๐ บาท เบี้ยเลี้ยงเท่ากับนักเรียนนายร้อย และเครื่องอุปโภคบริโภคตามสมควร แต่ไม่ต้องอยู่ในโรงเรียนเหมือนเช่นนักเรียนนายร้อย และได้อาศัยที่ว่าการโรงเรียนนายร้อย ชั้นประถมเดี๋ยวนี้ เป็นที่ศึกษาเล่าเรียนและเครื่องแต่งตัวเฉพาะนักเรียนสำรองราชการนั้น ก็เหมือนอย่างนักเรียนนายร้อย เว้นแต่บ่ายศมีแถบทองขนาดกว้าง ๑ เซนติเมตรขลิบริมบ่า แต่ไม่มีแถบทองพาดกลางบ่าเช่นนักเรียนนายร้อยนั้น

นักเรียนสำรองราชการนี้ ได้มีมาจนถึงปี ร.ศ.๑๒๕ ก็ได้เลิกถอนเสีย ส่วนนักเรียนที่สอบไล่ยังไม่ได้นั้น ก็คงเหลืออยู่จนปลายปี ร.ศ.๑๒๖ จึงได้มีการสอบไล่เป็นคราวที่สุดของอายุนักเรียนสำรองราชการ ต่อนั้นมานักเรียนสำรองราชการก็เป็นอันหมดสิ้น

นักเรียนนายดาบ

ความประสงค์ที่จะให้มีนักเรียนนายดาบนั้น โดยเหตุว่า

๑) จำนวนนายทหารสัญญาบัตรในกองทัพนั้น ในเวลาสงบศึกและเวลาสงคราม ย่อมต้องมากน้อยต่างกัน ในเวลาสงบศึกมีจำนวนทหารประจำการอยู่น้อย ครั้นถึงเวลาสงครามจึงเรียกระดมนายทหารกองหนุนกองเกินอัตราเข้าประจำการเพิ่มเติม จำนวนนายทหารมีอยู่ในเวลาสงบศึก พอที่จะบังคับบัญชาพลทหารที่มีอยู่ในเวลาสงบศึก แต่เมื่อเติมพลทหารขึ้นในเวลาสงครามจำนวนนายทหารก็ต้องเติมขึ้นเหมือนกัน นายทหารจำนวนนี้จะให้มีประจำอยู่เสมอ ก็เป็นการเปลือง พระราชทรัพย์ จึงต้องให้ประจำอยู่ในกองหนุน เรียกเข้าประจำการพร้อมกับเวลาที่ระดมพลทหาร ก็การที่จะทำหน้าที่นายทหารที่ธรรมดาอยู่ในกองหนุน เรียกเข้าประจำการแต่ในเวลาสงคราม สำหรับทำหน้าที่นายหมวดโดยเฉพาะฉะนี้ ไม่จำเป็นต้องมีวิชาพิสดารมากนัก จึงไม่ต้องใช้นายทหารที่ออกจากโรงเรียนนายร้อย อันเป็นผู้ที่เรียนวิชาโดยสุขุมพิสดารนั้น จึงใช้บุคคลอีกจำพวกหนึ่งที่มีความรู้แต่พอสมควร ทำหน้าที่นายทหารที่ธรรมดาอยู่ในกองหนุน เข้าประจำการในหน้าที่ผู้บังคับหมวด แต่เฉพาะเวลาระดมทหารดังว่ามาแล้ว

๒) เพื่อเป็นโอกาสที่จะให้บุคคล ซึ่งปรารถนาจะเป็นนายทหารสัญญาบัตร แต่มีวิชาสามัญและอายุไม่พอที่จะเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยได้ และสามารถจะเข้าเป็นนักเรียนเพียงชั้นนายดาบได้ ก็อาจเข้าศึกษาวิชาในตำแหน่งนักเรียนนายดาบ ซึ่งเป็นหนทางที่จะดำเนินไปสู่โอกาสที่จะเป็นนายทหารสัญญาบัตรได้สืบไป

๓) เมื่อถึงสมัยที่ได้ใช้พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารเต็มที่แล้ว บุคคลที่ต้องเกณฑ์เป็นทหารทั้งหลายนั้น บางคนเป็นผู้มีทรัพย์สมบัติและที่ทำมาหากินตามภูมิลำเนาของตนอย่างบริบูรณ์ และไม่อยากจะรับราชการก็มี แต่เป็นความจำเป็นที่จุดที่จะต้องรับราชการทหารไม่ต่ำกว่า ๒ ปี ตามพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารนั้น แต่ตนมีวิชาสามัญพอที่จะเข้าเป็นนักเรียนนายดาบได้ และเป็นผู้ที่อยากจะได้ฐานันดรศักดิ์ตามฐานานุรูปของตน ก็จะได้สมัครเป็นนักเรียนนายดาบ ซึ่งเป็นทางเหมาะดีที่สุดแก่บุคคลชนิดนี้ เมื่อศึกษาวิชาสำเร็จ และเข้ารับราชการครบกำหนดตามพระราชบัญญัติแล้ว ก็จะได้ออกเป็นนายทหารกองหนุนทันที แล้วจะได้ไปประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพของตนตามภูมิลำเนาเดิมสืบไป

ตามที่กล่าวแล้วดังนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีตำแหน่งนักเรียนนายดาบขึ้นตามมณฑลต่าง ๆ ซึ่งได้ใช้พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารแล้วนั้น

นักเรียนนายดาบนี้แต่เดิมเรียกว่านักเรียนนายทหารกองสมทบซึ่งกรมยุทธนาธิการได้จัดตั้งขึ้นแต่ปี ร.ศ.๑๒๓ (พ.ศ.๒๔๔๗) เมื่อเริ่มมีในชั้นต้นก็เกิดขึ้นที่มณฑลราชบุรีและนครราชสิมาก่อนหน้าที่การปกครองและอำนวยการศึกษาแห่งนักเรียนนายทหารกองสมทบนั้น ก็อยู่ในผู้บัญชาการทหารบกมณฑลทั้งสิ้น ผู้บัญชาการทหารมณฑลต่างก็จัดระเบียบการปกครองและการศึกษาดำเนินตามข้อบังคับสำหรับนักเรียนนายทหารกองสมทบ ซึ่งกรมยุทธนาธิการได้ตราขึ้นไว้ตั้งแต่ปี ร.ศ.๑๒๓ แล้วนั้นสืบมา แต่ถึงแม้ว่าต่างมณฑลจะได้จัดการให้ดำเนินตามข้อบังคับดังกล่าวแล้วนี้ด้วยกันก็ดี แต่จะให้เหมือนเป็นพิมพ์เดียวกันนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้เป็นธรรมดา ส่วนวิชาที่ได้เรียนตามหลักสูตรในสมัยโน้น ถึงแม่ว่าจะยิ่งหย่อนหรือแตกต่างกันบ้างในระหว่างมณฑลก็ดี แต่ก็คงให้เรียนด้วยกันทุกมณฑลตามชนิดของวิชาดังจะได้กล่าวต่อไปนี้ คือ วิชาทหาร มียุทธวิธีป้อม ค่าย สรรพาวุธวิธี แผนที่ แบบฝึกหัดและข้อบังคับทหารบก และวิชาสามัญมีหนังสือไทยกับวิชาเลขเป็นต้น

และชั้นศึกษาก็รวมเป็นชั้นเดียว เรียกว่านักเรียนนายทหารกองสมทบ กำหนดเรียนแต่ชั่วปีเดียวตลอดชั้น

บุคคลที่จะเข้าเป็นนักเรียนนายทหารกองสมบทได้นั้น ต้องประกอบด้วยคุณวุฒิดังต่อไปนี้

๑) เป็นผู้มีกำลังและร่างการบริบูรณ์ ซึ่งไม่มีอาการขัดแก่ราชการทหาร

๒) ไม่มีหนี้สินและไม่หลบหนีจากหน้าที่และโทษ และไม่ได้หลบหนีที่ได้กระทำเหตุร้ายอย่างใด ๆ ไม่มีคดีซึ่งต้องหาเป็นความอาญามีโทษ และบิดามารดาไม่ได้เป็นทาส และไม่ได้เป็นคนซึ่งอยู่ในระหว่างซึ่งต้องรับพระราชอาญา

๓) เป็นผุ้ที่ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๗ ปี และไม่เกินกว่า ๒๕ ปี และต้องมีกายสูงตั้งแต่ ๑๔๕ เซนติเมตรขึ้นไป เว้นแต่จ่านายสิบหรือนายสิบประจำกอง ไม่ต้องจำกัดอายุแต่ต้องจำกัดในอย่างอื่นทุกประการ

๔. ต้องเป็นผู้มีความรู้วิชาสามัญตามหลักสูตร ซึ่งกรมยุทธศึกษาได้จัดตั้งขึ้น

เครื่องแต่งตัวของนักเรียนนายทหารกองสมบทนั้น ให้มีแถบทองขนาดเล็กพาดขวางที่กลางบ่า นอกจากนั้นให้เป็นแบบเดียวกันกับพลทหาร เมื่อได้ออกสำรองราชการแล้วเครื่องแต่งตัวเป็นอย่างนายทหารชั้นนายร้อย เว้นแต่บ่ายศคงใช้อย่างเดิม

เมื่อได้เข้าเป็นนักเรียนนายทหารกองสมทบแล้ว ก็ได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๑๕ บาท เบี้ยเลี้ยงวันละ ๒๕ สตางค์ เว้นไว้แต่ที่ได้รับเงินเดือนอยู่แล้วสูวกว่าอัตรานี้ ก็คงให้รับตามเดิม และมีกำหนดเล่าเรียนได้ไม่เกินกว่า ๓ ปี ถ้าครบ ๓ ปี แล้วยังสอบวิชาไม่ได้ถึงนายทหารชั้นสัญญาบัตร ต้องปลดเป็นนายทหารกองหนุนชั้นที่ ๒ เว้นแต่ผู้นั้นยังจะสมัครรับราชการอยู่ต่อไป และกรมทหารบกมณฑลพอใจจะรับไว้ ก็ให้รับราชการต่อไปได้ในตำแหน่งซึ่งตนได้กระทำอยู่แล้วนั้น แต่ก็ให้ประจำกองในกรมทหาร เป็นขาดจากนักเรียนนายทหารกองสมทบ เมื่อสอบไล่ได้สำเร็จชั้นนักเรียนแล้ว กรมยุทธนาธิการจึงสั่งให้ออกสำรองราชการตามกรมและกองก็ได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๔๕ บาท เว้นเสียแต่ได้รับเงินเดือนอยู่แล้วสูงกว่าอัตรานี้ เมื่อสำรองราชการอยู่นั้นรับราชการได้เรียบร้อยดี กรมยุทธนาธิการก็จะให้เข้าประจำกองมีเกียรติยศเป็นนายทหารสัญญาบัตร

การสอบไล่นักเรียนนายทหารกองสมบทออกสำรองราชการดังที่กล่าวแล้วนี้ กรมยุทธนา ธิการได้ตั้งกรรมการไปสอบไล่ทุกคราว ส่วนการสอบไล่ที่จะเข้าเป็นนักเรียนและเลื่อนขึ้นเป็นนายสิบนั้น ผู้บัญชาการทหารบกมณฑลเป็นผู้ตั้งกรรมการ

ครั้นต่อมาเมื่อปี ร.ศ.๑๒๖ หน้าที่อำนวยการศึกษาของนักเรียนนายทหารกองสมทบได้โอนเข้าอยู่ในผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบก ซึ่งตรงกับสมัยนายพลตรีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิศณุโลกประชานาถทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบกนั้น จึงได้ทรงจัดระเบียบการศึกษาสำหรับนักเรียนนายทหารกองสมทบให้ลงเป็นแบบเดียวกันได้ แต่บัดนี้มามณฑลต่าง ๆ ที่ได้มีนักเรียนนายทหารกองสมทบ ก็ได้ดำเนินทางการศึกษาตามระเบียบของผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบก ซึ่งได้ตราออกไปนั้น

ในระเบียบการศึกษานั้นมีหลักสูตรสำหรับสอบวิชาผู้ที่จะเข้าเป็นนักเรียนนายทหารกองสมทบ และหลักสูตรสำหรับสอนนักเรียนนายทหารกองสมทบตลอดจนสอบไล่ออกสำรองราชการ หลักสูตรทั้ง ๒ ชนิดนี้ได้บ่งวิชาให้เรียนเป็นบทและมาตราอย่างชัดเจนแน่นอนขึ้น กับได้บ่งชี้บุคคลชนิดใดให้เป็นผู้บัญชาการทหารบกมณฑลเลือกขึ้นเป็นหัวหน้าครู ซึ่งจะได้รับผิดชอบในแผนกศึกษาเหมือนเช่นหัวหน้าครูสำหรับโรงเรียนนายร้อยทั้ง ๒ นั้นด้วย กับผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบกมีหน้าที่กำหนดว่าครูจะต้องมีความสามารถเพียงใด จึงสมควรที่จะเป็นครูสำหรับสอนนักเรียนนายทหารกองสมทบนั้น การศึกษาของนักเรียนนายทหารกองสมทบ ก็ค่อยสมบูรณ์ขึ้นเป็นอันดับมา และในปี ร.ศ.๑๒๖ นั้น จึงได้มีนักเรียนนายทหารกองสมทบตั้งขึ้นในมณฑลกรุงเทพฯ อีกมณฑลหนึ่ง และบรรดาครูที่สอนวิชาสามัญแก่นักเรียนนายทหารกองสมทบตลอดจนครูสำหรับนักเรียนนายสิบ ซึ่งมีสภาพเป็นพลเรือนนั้น ก็มีโอกาสที่จะเป็นนายทหารสัญญาบัตรได้เช่นเดียวกันกับครูสอนวิชาสามัญโรงเรียนนายร้อย ตามที่กล่าวมาแล้วในเรื่องครูอาจารย์

การสอบไล่ผู้สมัครเป็นนักเรียนนายทหารกองสมทบ ก็ได้ดำเนินไปในระเบียบดันดีด้วยเหมือนกัน โดยเหตุที่ประเภทการสอบไล่ตามที่ได้แยกอยู่แล้วเป็น ๒ ประเภทคือ ประเภทที่ ๑ สอบไล่ ผู้สมัครเข้าเป็นนักเรียนนายทหารกองสมทบ และเลื่อนตำแหน่งยศขึ้นเป็นนายสิบ กับการสอบไล่นักเรียนนายทหารกองสมทบออกสำรองราชการ รวมทั้ง ๒ ประเภทนั้น ผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบกหรือผู้แทนต้องไปในการสอบด้วยทุกคราว

ในการที่ผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบกหรือผู้แทนไปในการสอบไล่นั้น ใช่แต่จะเป็นประโยชน์ในการสอบไล่โดยเฉพาะเท่านั้นหามิได้ ยังมีประโยชน์อย่างอื่น ๆ แห่งระเบียบการศึกษาอีกด้วย คือผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบก จะได้ทราบเหตุการณ์แห่งระเบียบการศึกษา ซึ่งตามมณฑลได้ดำเนินการมาแล้ว และกระทำอยู่เป็นอย่างไร เพื่อจะได้เป็นหนทางให้ผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบกดำริการแก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบการศึกษา ที่หากว่าจะมีการขัดขวางหรือบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด ให้ดำเนินไปสู่ในทางดีที่สุดจะดีได้สืบไปอีกส่วนหนึ่งด้วย

ครั้นเมื่อปี ร.ศ.๑๒๗ (พ.ศ.๒๔๕๑) กรมยุทธนาธิการได้ตราข้อบังคับขึ้นใหม่ ได้เปลี่ยนนามนักเรียนนายทหารกองสมทบเป็นนักเรียนนายดาบและแก้ไขเปลี่ยนแปลงการอื่นบ้าง ซึ่งจะนำมากล่าวแต่บางเรื่อง คือ นักเรียนให้ได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๘ บาท เบี้ยเลี้ยงวันละ ๒๕ สตางค์ เมื่อได้ออกสำรองราชการให้ได้รับเงินเดือน เดือนละ ๓๐ บาท เว้นแต่ผู้ที่เป็นนายสิบ หรือนายทหารชั้นใด ซึ่งได้รับเงินเดือนสูงกว่าอัตรานี้อยู่แล้ว ก็คงให้ได้รับตามอัตราเงินเดือนตามตำแหน่งเดิม และเมื่อเป็นนายดาบแล้ว แต่งกายอย่างนายทหารชั้นนายร้อยเว้นแต่แถบทองขลิบที่ริมบ่ายศมีขนาดกว้างเพียงกึ่งเซนติเมตร มียศสูงกว่าจ่านายสิบและถัดรองนายร้อยตรี มีหน้าที่บังคับหมวดประจำกอง และเมื่อประจำการอยู่ ก็ได้รับพระราชทานเงินเดือนและเบี้ยกันดารเช่นเดียวกับนายร้อยตรีชั้น ๓ เมื่อรับราชการครบ ๒ ปีแล้ว นับตั้งแต่วันที่ได้เข้าเป็นนักเรียนก็จะได้ออกเป็นนายดาบกองหนุรับเบี้ยหวัดตามส่วนแบ่ง เช่นเดียวกันกับนายร้อยตรีชั้น ๓

เมื่อสอบไล่วิชาสำเร็จเป็นนายดาบแล้ว มีโอกาสที่จะเป็นนายทหารสัญญาบัตรได้โดยความชอบพิเศษ หรืออีกประการหนึ่ง ถ้านายดาบผู้ใดสมัครเล่าเรียนเพิ่มเติม ให้มีความรู้เทียบเท่ากับผู้ที่ออกเป็นนายทหารจากโรงเรียนนายร้อยแล้ว กรมยุทธนาธิการก็เลือกคัดผู้ที่สมัคร ซึ่งมีความประพฤติดี ส่งมาเล่าเรียนวิชาเพิ่มเติมที่กรมบัญชาการโรงเรียนทหารบก เมื่อเรียนอยู่ครบรอบปีต้องสอบไล่ตามหลักสูตรนักเรียนนายร้อยออกเป็นนายทหาร ผู้ใดสอบไล่ไดดีผู้นั้นจะได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นนายร้อยตรี และทำราชการสืบไปอย่างผู้ที่ออกจากโรงเรียนนายร้อยทุกประการ ผู้ที่สอบไล่ไม่ได้ออกเป็นกองหนุนตามระเบียบ

ครั้นเมื่อปี ร.ศ.๑๒๘ กรมยุทธนาธิการจึงได้จัดนายดาบ ในมณฑลต่าง ๆ เข้ามาศึกษาวิชาที่กรมบัญชาการโรงเรียนทหารบกตามระเบียบนี้ใช้หลักสูตรพิเศษ ซึ่งกรมบัญชากรรโรงเรียนทหารบกได้จัดทำขึ้น นายดาบพวกนี้ได้มาจากกองพลที่ ๑ มณฑลกรุงเทพฯ ๒ คน กองพลที่ ๔ มณฑลราชบุรี ๒ คน กองพลที่ ๕ มณฑลนครราชสีมา ๓ คน รวม ๗ คน เป็นนายดาบชุดแรกที่ได้เข้าศึกษาวิชาตามระเบียบใหม่นี้

อนึ่ง เมื่อเดือนตุลาคม ร.ศ.๑๒๘ (พ.ศ.๒๔๕๒) นี้ กรมยุทธนาธิการได้ออกข้อบังคับจัดระเบียบการศึกษาของนักเรียนนายดาบใหม่ คือให้รวบรวมกันมาเล่าเรียนที่กรุงเทพฯ ในความปกครองของกรมบัญชาการโรงเรียนทหารบกโดยแท้ ระเบียบนี้จะได้ใช้แต่ปี ร.ศ.๑๒๙ เป็นต้นไป และคงจะเป็นหนทางที่ให้นักเรียนนายดาบได้รับความรู้ และความฝึกฝนสม่ำเสมอเหมือนกันหมดไม่แตกต่างกันเหมือนเมื่อแยกเรียนอยู่ตามกองพล สามารถแลเห็นประโยชน์ ที่จะมียิ่งขึ้นภายหน้าเป็นอันมาก


1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ4 มีนาคม 2552 เวลา 09:06

    ขอบคุณมากเลยนะครับ สำหรับบทความ

    ตอบลบ