วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2551

กำเนิดของโรงเรียนทหารบก



กลับหน้าแรก Blog


ประวัติ

โรงเรียนทหารบก

นายพันตรีหลวงวิเศษศิลปสาตร์

หัวหน้าครูโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม

เป็นผู้เรียบเรียง

นักเรียนนายร้อยโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม

เป็นผู้จัดพิมพ์ขึ้น

ในการฉลองและเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม

๒๖ ธันวาคม ร.ศ.๑๒๘


ประวัติโรงเรียนทหารบก ซึ่งนายพันตรีหลวงวิเศษศิลปะสาตร์หัวหน้าครูโรงเรียนนายร้อยชั้นประถมเรียบเรียงขึ้นนี้ ข้าพเจ้าได้ตรวจเห็นว่าถึงแม้ยังมีความบกพร่องในทางความคิดวางแผนเรียบเรียงและในทางสำนวนอยู่บ้างก็จริง แต่พอเป็นเค้าให้เห็นทางที่โรงเรียนทหารบกได้ดำเนินมาอย่างใดในหนหลังนั้นได้ ดีกว่าไม่มีเลย จึงได้อนุญาตให้พิมพ์ขึ้น มีความหวังว่าในภายหน้ายังจะแก้ไขให้เรียบร้อยยิ่งขึ้นอีกได้

จักรพงษ์

ผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบก

(จอมพล สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานาถ)


คำนำ

ประวัติโรงเรียนทหารบกเล่มนี้ ข้าพเจ้าได้เรียบเรียงขึ้นโดยพระกระแสรับสั่งผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบก เพื่อแจกให้เป็นเครื่องระลึก ในการฉลองและเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม การเรียบเรียงนั้น ข้าพเจ้าได้เรียบเรียงตามความที่ได้รู้เห็นมาบ้างและสืบเสาะหาหลักฐานจากคำสั่งต่างๆ บ้าง ไต่ถามท่านผู้ใหญ่ที่ได้รู้เห็นบ้าง มารวบรวมกันเรียบเรียงขึ้น

และการที่ข้าพเจ้าได้กระทำนั้น กระทำได้โดยความรีบร้อนเพื่อจะให้ทันกับความต้องการทั้งเป็นเรื่องราวที่รวบรวมได้โดยยากด้วย จึงเป็นการที่จะให้ถูกต้องเรียบร้อยทีเดียวไม่ได้ จำต้องมีผิดๆ ถูกๆ อยู่บ้าง แต่ก็เป็นการจำเป็นที่สุด ที่จะต้องพิมพ์ขึ้นใช้ไปก่อนในคราวนี้ ทั้งสำนวนและถ้อยคำที่เรียบเรียงขึ้นนั้นก็ไม่สู้ไพเราะยังมีขัดๆ เขินๆ อยู่โดยมาก ทั้งนี้ข้าพเจ้าขออภัยโทษต่อท่านผู้อ่านทั้งหลายด้วย

พ.ต. หลวงวิเศษศิลปะสาตร์

หัวหน้าครูโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม

(สอบถามอาจารย์ยิ้ม ปัณฑยางกูร ว่าชื่อ ชื้น ทิพโมท )

( พ.ศ. ๒๔๔๘ เป็น ขุน)

(พ.ศ. ๒๔๕๑ เป็น หลวง)

(พ.ศ. ๒๔๖๔ ยังมีชีวิตอยู่ไม่ทราบว่าถึงแก่กรรมเมื่อใด)


กำเนิดของโรงเรียนทหารบก

(เป็นชื่อเดิมของโรงเรียนนายร้อย เช่น โรงเรียนทหารสราญรมย์, คะเด็ตทหารหน้า, คะเด็ตทหารมหาดเล็ก, คะเด็ตสวนกุหลาบ, ต่อมาเมื่อรวมกันเรียกทัพศัพท์ว่า คะเด็ต)

โรงเรียนทหารบกในประเทศสยามเรานี้ ย่อมจะมีมาแต่โบราณกาล เพราะว่าตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์มา ก็ย่อมมีการรบพุ่งชิงชัยกันอยู่เนืองๆ จนพระมหากษัตริย์บางพระองค์ ซึ่งมีพระนามปรากฏในพระราชพงศาวดาร ทรงนิยมเอาการต่อยุทธมานะมาเปรียบประดุจเป็นการเล่นนักขัตฤกษ์ แต่ได้สังเกตในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ก็เห็นว่าการรบพุ่งกันนั้น ย่อมจะรบกันโดยทางบกมากว่าทางเรือ ตามแบบพิชัยสงครามทางบกในประเทศเรา ก็ได้ดำเนินวิธีตามกาลสมัยของการใช้อาวุธเป็นลำดับมา คือสมัยใดใช้อาวุธอย่างไร ก็ต้องผันแปรยุทธศาสตร์และยุทธวิธีให้สมกับกาลสมัยนั้นๆ การผันแปรเรื่องที่ใช้อาวุธมีสืบมาแต่ครั้งสมัยที่ใช้อาวุธฟันแทงเป็นพื้น จนถึงกาลที่ใช้อาวุธยิง คือมีปืนเป็นต้น เมื่อประเทศของเราได้ใช้ปืนใหญ่และปืนเล็กแล้วก็ต้องแยกประเภทการทหารออกเป็นเหล่าต่างๆ คือมีเหล่าทหารราบ, ทหารปืนใหญ่กับทหารม้าเป็นต้น

ทหารราบที่ได้จัดเป็นหมวดเป็นกรมแต่โบราณมา ก็มีนามปรากฏแต่ทหารรักษาพระองค์ซึ่งได้ตั้งมาได้ประมาณไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ ปี นับแต่วันที่ได้ตรากฎหมายศักดินาทหาร ซึ่งได้มีระเบียบบรรดาศักดิ์เจ้ากรมและปลัดกรมของกรมทหารรักษาพระองค์ แต่ครั้งนั้นมา

ทหารปืนใหญ่ถึงแม้ว่าได้มีการใช้ปืนใหญ่มาช้านานแล้วก็ดีแต่จะได้เป็นหมู่เป็นกรมขึ้นก็เมื่อปีชวดจัตวาศกจุลศักราช ๑๒๑๔ ( พ.ศ.๒๓๙๕) ในรัชกาลที่ ๔ ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดตั้งขึ้น

ทหารม้านี้ได้มีปนอยู่กับกองทัพแต่ครั้งโบราณมา แต่จะเป็นหมวดเป็นกองอย่างไรก็ยากที่จะค้นหลักฐาน แต่เมื่ออ่านพระราชพงศาวดารดู ก็จะพบปะเรื่องทหารขี่ม้าประจัญบานต่อข้าศึกก็มีบ้าง และได้ยินจากท่านบรรพบุรุษบอกเล่าอยู่บ้างว่า ในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ (สมเด็จพระนารายน์มหาราช) ได้มีกองทหารม้า ๕๐๐ เกณฑ์หัดอย่างฝรั่ง เมื่อสิ้นรัชกาลนั้นแล้วก็เกิดการจลาจลฆ่าฟันกัน ภายหลังกองทหารม้านั้นกระจัดพลัดพรายหายสูญไปหมด ต่อนั้นมาก็ไม่ได้ความปรากฏในที่ใดว่า มีกองทหารม้า ในแผ่นดินใดบ้าง

ครั้นมาเมื่อปีวอกจัตวาศกจุลศักราช ๑๒๓๔ ( พ.ศ. ๒๔๑๕ ) ในรัชกาลปัจจุบันนี้ จึงได้ก่อร่างสร้างกองทหารม้าขึ้น (โรงทหารเก่าอยู่ในคลังอาภรณ์ภัณฑ์ตรงข้ามวัดโพธิ์) แล้วได้ดำเนินการนั้นต่อเนื่องมาจนทุกวันนี้ ส่วนเหล่าทหารอื่นๆ นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้วเป็นเหล่าทหารซึ่งได้ยกเลิกเสียแล้วบ้าง ที่ได้จัดตั้งขึ้นใหม่บ้างก็มีอีกเป็นหลายเหล่า แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องกล่าวถึงในที่นี้

แม้ถึงเหล่าทหารทั้งหลายตามที่ได้กล่าวแล้วนี้ จะได้ทราบวิชาและการฝึกหัดแล้วก็ดีแต่นอกจากาแบบไทยๆ แล้ว ก็ต้องอาศัยหาจ้างคนชาวยุโรปมาเป็นครูเสียโดยมาก พวกที่มาเป็นครูนั้นบางคนก็เป็นครูจับพลัดหรือครูจรๆ มาตามกัน จะเป็นแบบแผนเก่าใหม่อย่างไร ก็ไม่ใคร่รู้เท่าถึง

อีกประการหนึ่งตำแหน่งนายทหารสัญญาบัตรนั้น เป็นพนักงานที่จะต้องควบคุมบังคับบัญชาว่ากล่าว และเป็นภาระระวังการสุขทุกข์ของไพร่พลเป็นอันมาก ถ้าไม่เป็นผู้มีอัธยาศัยมั่นคงอยู่ในความเที่ยงธรรม และไม่เป็นผู้เอื้อเฟื้ออยู่ในความเมตตากรุณาแล้วไซร้ ไพร่พลก็ย่อมจะพากันเดือดร้อนระส่ำระสาย ให้เสื่อมเสียราชการเป็นธรรมดา การตั้งตำแหน่งนายทหารสัญญาบัตรนั้นจึงเป็นการสำคัญอย่างยิ่งอันหนึ่งในราชการทหาร และการซึ่งตั้งนายทหารสำหรับรับราชการประจำกอง และบังคับบัญชาพลทหารแต่ชั้นเดิมๆ มา ก็มักใช้แต่ผู้ที่เป็นบุตรมีเชื้อวงศ์ตระกูล หรือพลทหารที่รับราชการมีความชอบ หรือชำนาญในการฝึกหัดทหาร กับมีไหวพริบดี ก็ยกขึ้นเป็นนายสิบ แล้วเลื่อนขึ้นจนถึงเป็นนายทหารสัญญาบัตรก็มี แต่ดังนั้นก็ยังหาพอใช้ในราชการทหารไม่ กับทั้งมีเวลาโอกาสที่จะให้ศึกษาวิชาทหารและวิชาสามัญ ให้มีความรู้ในยุทธสงครามให้เจริญยิ่งขึ้นไปกว่านั้นก็น้อยนัก

เพราะฉะนั้น จึงทรงพระราชดำริโดยพระบรมราโชบาย เพื่อจะขยายความรู้ในการนี้ให้ชาวเราทั้งหลายได้ฝึกฝน จนเป็นนายและครูวิชาทหารเสมอหน้าเขาได้โดยลำพัง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้งโรงเรียนสำหรับฝึกสอนนักเรียนซึ่งเป็นผู้ที่จะได้รับราชการฉลองพระเดชพระคุณตำแหน่งนายทหารสัญญาบัตรสืบไป

โรงเรียนทหารบกจึงได้ตั้งขึ้นเป็นอันดับมาดังนี้ เดิมได้มีโรงเรียนทหารขึ้น ๒ แห่ง คือที่เรียกว่า คะเด็ตสวนกุหลาบ แห่งหนึ่ง สำหรับกรมทหารมหาดเล็ก (รักษาพระองค์) ซึ่งบัดนี้เรียกว่ากรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็ก (รักษาพระองค์) กับอีกแห่งหนึ่งเรียกว่า คะเด็ตทหารหน้า สำหรับกรมทหารหน้าซึ่งบัดนี้เรียกว่ากรมทหารราบที่ ๔ นั้น การก็ดำเนินรุ่งเรืองมาตามสมัย ครั้นเมื่อกรมทหารบกรวมขึ้นอยู่ในกรมยุทธนาธิการแล้ว ( ตามประกาศจัดการทหารเมื่อ ๘ เม.ย.๒๔๓๐) การทหารจึงได้ลงเป็นระเบียบอันเดียวกัน และส่วนโรงเรียนทหารก็ได้รวมเป็นโรงเรียนเดียวกันด้วย

ครั้นเมื่อปีกุญนพศกจุลศักราช ๑๒๔๙ (พ.ศ.๒๔๓๐) ตรงกับปี ร.ศ. ๑๐๖ นายพลเอกสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรักษีสว่างวงษ์กรพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช เมื่อครั้งยังทรงดำรงตำแหน่งแทนผู้บัญชาการทหารทั่วไป ได้รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าใส่กระหม่อม ให้ทรงจัดตั้งโรงเรียนนายร้อยทหารบกขึ้น ในชั้นแรกมีนามว่าคะเด็ตสกูล (ตามภาษาอังกฤษ) ในขณะนั้นนายพลโทพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นนายพลตรี ฯลฯ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารทั่วไปได้ทรงเลือกคัดนักเรียนแผนที่กับนักเรียนทหารสก๊อตในกรมทหารมหาดเล็ก ผู้ที่สมัครมาเป็นนักเรียนคะเด็ตในครั้งนั้นส่งมารวมกัยนักเรียนคะเด็ตสวนกุหลาบและคะเด็ตทหารหน้าให้ศึกษาเล่าเรียนอยู่ในโรงเรียนคะเด็ตซึ่งรวมตั้งขึ้นนั้น ในคราวที่เริ่มขึ้นนี้ได้มีนักเรียนประมาณ ๕๐ คนเศษ และได้ยกเอาโรงพิมพ์ศึกษาพิมพ์การทำเป็นที่อยู่ของนักเรียน ที่อยู่ของนักเรียนหลังนี้ เป็นโรงทำด้วยไม้มุงหลังคาด้วยสังกะสี พื้นปูด้วยกระเบื้องหน้าวัว ก่อนเป็นฐานขึ้นมาจากพื้นดิน ตั้งอยู่ข้างทิศใต้ของโรงเรียนนายร้อยชั้นปฐมปัจจุบันนี้ (ตรงกรมแผนที่ทหาร) กับจัดเอาโรงเรียนสราญรมย์สำหรับสอนหนังสือไทย ครั้งพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย) เป็นอาจารย์ใหญ่ ซึ่งแต่เดิมเป็นหอบิลเลียดนั้นทำเป็นห้องเรียน ห้องเรียนหลังนี้ตั้งอยู่ย่านกลางบริเวณโรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม อันมีสระกว้างประมาณ ๒ วา ล้อมรอบและบัดนี้ได้ทำเป็นที่ว่าการโรงเรียน กับจัดเอาตึกแถวโรงสีเข้าสำหรับทหารหน้าครั้ง นายพลโทเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เมื่อยังดำรงยศเป็นเจ้าหมื่นไวยวรนาถ เป็นผู้บังคับการทหารหน้านั้นมาเป็นโรงเลี้ยงอาหารของนักเรียน ตึกหลังนี้ตั้งอยู่ข้างทิศตะวันออกเฉียงใต้ของโรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม และได้ใช้เป็นที่รับประทานอาหารของนักเรียนมาจนทุกวันนี้ กับได้จัดเอาสนามในบริเวณโรงเรียนนั้นเป็นสถานฝึกหัดมาจนทุกวันนี้เหมือนกัน

ผู้บังคับการ

เมื่อปีกุญนพศกจุลศักราช ๑๒๔๙ ( พ.ศ.๒๔๓๐ ) ซึ่งเป็นปีต้นของอายุโรงเรียนนายร้อยทหารบกกรมยุทธนาธิการได้จัดให้นายพันเอกวอล์เกอร์นายทหารในกองทัพบกของอังกฤษในประเทศอินเดียมาเป็นผู้บังคับการ

ครั้นเมื่อ ปีชวดสัมฤทธิ์ศก จุลศักราช ๑๒๕๐ ( พ.ศ.๒๕๓๑) ซึ่งตรงกับปี ร.ศ. ๑๐๗ กรมยุทธนาธิการ จึงจัดการเปลี่ยนผู้บังคับการ คือให้นายพลโทเจ้าพระยาสุรวงษ์วัฒนศักดิ์ (โต) เมื่อยังดำรงยศเป็นนายพันเอกพระยาสีหราชเดโชชัยมาเป็นผู้บังคับการ แล้วต่อมาได้เลื่อนยศขั้นเป็นนายพลตรี และเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ร.ศ.๑๑๑ (๒ เม.ย. ๒๔๓๕) ก็ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปเป็นปลัดทัพบกใหญ่ กรมยุทธนาธิการจึงได้ตั้งให้นายพลโทพระยาสีหราชเดโชชัย (หม่อมราชวงศ์อรุณ) เมื่อครั้งยังดำรงยศเป็นนายพันตรีหม่อมราชวงศ์อรุณ ให้เป็นผู้รักษาการ และอยู่จำเนียรมาก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเลื่อนยศขึ้นเป็นหลวง และเป็นพระสรวิเศษเดชาวุธ ทั้งเป็นผู้บังคับการด้วย

ครั้น ณ วันที่ ๑ เมษายน ร.ศ.๑๑๘ (๑ เม.ย.๒๔๔๒) ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปเป็นผู้บัญชาการทหารบกมณฑลกรุงเทพฯ ซึ่งเรียกว่ากองพลที่ ๑ ณ บัดนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายพลโทพระยาวงษานุประพันธ์ (หม่อมราชวงศ์ สท้าน) เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งยศเป็นนายร้อยเอก หม่อมราชวงศ์ สท้านนั้นเป็นผู้บังคับบัญชาสืบมา ในระหว่างที่เป็นผู้บังคับการนี้ได้เลื่อนยศเป็นลำดับขึ้นไปจนถึงได้เป็นนายพันเอก หม่อมชาติเดชอุดม

ครั้นวันที่ ๒ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๒ (๒ มี.ค.๒๔๔๖) ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปเป็นเสนาธิการทหารบกจึงทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายพลตรีพระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ์ (อุ่ม) เมื่อครั้งยังดำรงยศเป็นนายพันโท พระสุรเดชรณชิตเป็นผู้บังคับการ รับราชการสืบมาจนได้เลื่อนยศขึ้นเป็นนายพันเอก

ครั้นเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๕ (๒๐ พ.ย.๒๔๔๙) ได้เลื่อนตำแหน่งไปเป็นผู้บัญชาการทหารบกมณฑลพายัพ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายพลตรี สมเด็นพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมขุนพิศณุโลกประชานาถ เมื่อยังทรงดำรงพระยศฝ่ายทหารเป็นนายพันเอก ได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนต่อมา ครั้นเมื่อต้นปี ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ.๒๔๕๑) ได้เลื่อนพระยศขึ้นเป็นนายพลตรี คงทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการมาจนทุกวันนี้


สมัยนายพันเอก วอล์เกอร์เป็นผู้บัญชาการ
สมัยนายพลโท เจ้าพระยาสุรวงษ์วัฒนาศักดิ์ (โต) เป็นผู้บังคับการ
สมัยนายพลโท พระยาสีหราชเดโชชัย เป็นผู้บังคับการ
สมัยนายพลโท พระยาวงษานุพันธ์ เป็นผู้บังคับการ
สมัยนายพลตรี พระยาศักดาภอเดชวรฤทธิ์ เป็นผู้บังคับการ
สมัยนายพลตรี สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิศณุโลกประชานาถ ทรงบัญชาการ
ผู้สอบไล่และการให้รางวัลแก่นักเรียน เครื่องแต่งตัว ถืออาวุธ
ครูอาจารย์ นักเรียนสำรองราชการ นักเรียนนายดาบ

กลับหน้าแรก Blog

ไม่มีความคิดเห็น: