วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2551

สมัยนายพันเอก วอล์เกอร์เป็นผู้บัญชาการ (ตอนที่ ๒)

กลับไปหน้าแรกประวัติ


การปกครองและการศึกษา

สมัย นายพันเอก วอล์เกอร์เป็นผู้บัญชาการ

การปกครองในปีกุญนพศก จุลศักราช ๑๒๔๙ (๒๔๓๐) ซึ่งเป็นปฐมกาลของโรงเรียนนั้นได้จัดกองนักเรียนเป็น ๑ กองร้อย มีอัตรานักเรียนเพียง ๒๐๐ คน มีนายพันเอกเป็นผู้บังคับการ ๑ ผู้บังคับการนั้นได้มีหน้าที่นอกจากปกครองแล้ว ยังต้องฝึกหัดและสั่งสอนวิชาทหารด้วย ถัดตำแหน่งผู้บังคับการลงมา มีจ่านายสิบเป็นผู้ช่วยปกครอง ๑ จ่านายสิบยกระบัตร ๑ จ่านายสิบเกียกกาย ๑ และมีครูอาจารย์พอสมควร และในจำนวนครูอาจารย์นี้เป็นชาวยุโรปอยู่ด้วยหลายนาย และการรักษาพยาบาลนั้นได้ตั้งนายแพทย์ตรวจเป็นคราวๆ หรือเมื่อมีการจำเป็นก็เรียกมาตรวจและรักษาพยาบาล

ส่วนกองร้อยนักเรียนต้องมีอายุตั้งแต่ ๑๔ ปี ถึง ๒๔ ปี และเป็นผู้ที่แพทย์ได้ตรวจแล้วเห็นว่าสมควรจะเป็นทหารได้ ทั้งมีความรู้หนังสือไทยอ่านออกเขียนได้ และเป็นผู้มิได้ประพฤติความชั่ว เป็นพาลทุจริต กับเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองแล้วดังนี้ กรมยุทนาธิการจึงจะอนุญาตให้เป็นนักเรียนได้

เมื่อเป็นนักเรียนแล้วถือศักดินา ๔๐๐ ไร่ (สมัยนั้น ร.ต. มีศักดินา ๖๐๐, ส.อ.ศักดินา ๔๐๐, พลทหาร ๕๐) และได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๑๒ บาท กับเครื่องอุปโภคบริโภคตามสมควร

การสอบไล่นักเรียนมีปีละครั้ง เมื่อนักเรียนคนใดสอบไล่ได้ตามหลักสูตรแล้ว ก็จะได้รับตำแหน่งเป็นนายทหารชั้นนายร้อยตรีประจำกรมและกองต่อไป

ห้องเรียนได้แบ่งออกเป็น ๔ ชั้น คือ

ห้อง A เป็นชั้นสูง (ชั้นซีเนีย)

ห้อง B เป็นชั้นรอง

ห้อง C เป็นชั้นต่ำ

ห้อง D เป็นชั้นต่ำที่สุด

วิชาที่เรียน

วิชาทหาร

๑) ยุทธวิธี และยุทธศาสตร์

๒) ป้อมค่าย

๓) แผนที่

การฝึกหัด

๑) ฝึกหัด ทหารราบ

วิชาสามัญ

๑) วิชาหนังสือไทย

๒) วิชาคำณวนวิธี

(ก) วิชาเลข

(ข) ยุคลิด

๓) ภูมิศาสตร์

๔) วาดเขียน

๕) ภาษาอังกฤษ

การศึกษาแต่ครั้งปฐมกาลของโรงเรียนนี้นั้น ถึงแม้ว่าแบบฉบับตำรายังมีไม่สมบูรณ์เหมือนสมัยปัจจุบันนี้ ทั้งครูอาจารย์ สำหรับวิชาที่สำคัญเล่าก็เป็นชาวยุโรป ซึ่งภาษาไทยไม่พอเพียงแก่จำนวนคำที่ใช้ในวิชาดังนั้นก็ดี ถึงกระนั้นนักเรียนสมัยโน้นก็ยังอุตสาหสะสมเอาพืชผลความรู้ไว้ได้ แล้วนำเอาออกหว่านให้งอกงามเจริญขึ้นทุกปีมา จนสามารถอาจเป็นเสนาครอบงำจังหวัดทหารอันใหญ่หลวงไว้สมบูรณ์ได้ เช่นนายพลตรีพระยาพหลพลพยุหเสนา (นพ) เป็นต้น ซึ่งเดิมเป็นนักเรียนออกแต่ปี ร.ศ. ๑๐๗ (พ.ศ.๒๔๓๑) ท่านยังสามารถเป็นผู้บัญชาการกองพลประจำมณฑลได้ดีอย่างยิ่งยวด ยังท่านอื่นๆ ที่มีนามปรากฏอยู่แล้วอีกหลายท่าน ทั้งนี้ก็เป็นพยานให้เห็นได้ว่า มรรคผลที่ได้จากปฐมวัย ของโรงเรียนนั้นอาจเป็นได้ถึงเพียงนี้ ส่วนมรรคผลที่ได้จากสมัยต่อๆ มาจนบัดนี้นั้นไม่จำเป็นต้องกล่าว



สมัยนายพลโท เจ้าพระยาสุรวงษ์วัฒนาศักดิ์ (โต) เป็นผู้บังคับการ (ตอนที่ ๓)


ไม่มีความคิดเห็น: