วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2551

สมัยนายพลตรี สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิศณุโลกประชานาถ ทรงบัญชาการ (ตอนที่ ๗)

กลับหน้าแรกประวัติ


สมัยนายพลตรี สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิศณุโลกประชานาถ ทรงบัญชาการ

ในปี ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙) กรมยุทธนาธิการได้คิดเปลี่ยนวิธีดำเนินการในเรื่องยุทธศึกษาใหม่ คือ คิดให้มีตำแหน่งหน้าที่ราชการขึ้นใหม่ซึ่งเรียกว่าผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบก ให้เป็นผู้อำนวยการศึกษาของบุคคลที่จะเล่าเรียน เพื่อประสงค์รับราชการในหน้าที่นายทหารชั้นสัญญาบัตรนั้นโดยทั่วไป ทั้งเป็นผู้รับผิดชอบในทางปกครองในโรงเรียนนายร้อยโดยเฉพาะด้วย

ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรกกระหม่อม ให้นายพลตรีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนพิศณุโลกประชานาถ เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบก เป็นพระองค์แรก แต่ ณ วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๕ และในชั้นต้นก็ได้ทรงทำหน้าที่ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อย ดังที่ผู้บังคับการแต่ก่อนได้กระทำมาแล้วนั้นต่อไปจนกว่ากรมยุทธนาธิการวางระเบียบไหม้ให้ตลอด

ครั้น ณ วันที่ ๑ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๖ (๒๔๕๐) กรมยุทธนาธิการจึงได้ตราข้อบังคับขึ้นใหม่วางระเบียบการยุทธศึกษาทั่วไป เรียกว่าข้อบังคับโรงเรียนทหารบก ร.ศ. ๑๒๖ มีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

แบ่งโรงเรียนนายร้อยออกเป็น ๒ โรงเรียน ตามที่มีสถานที่อยู่เป็น ๒ แห่งแล้ว เรียกว่า โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม ๑ โรงเรียนนายร้อยชั้นประถม ๑ มีผู้บังคับการเป็นผู้ปกครอง ประจำโรงเรียน โรงเรียนละ ๑ นาย มีหน้าที่และอำนาจเท่ากับผู้บังคับการกรมทหารขึ้นต่อผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบก อย่างเดียวกับผู้บังคับการกรมขึ้นต่อผู้บัญชาการกองพล มีนายเวรยกระบัตรและแพทย์ประจำโรงเรียนต่างหน้าที่กัน

ในโรงเรียนหนึ่งมีกองร้อย ๒ กองร้อย คือ กองร้อยที่ ๑ กับกองร้อยที่ ๒ อยู่ในโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม กองร้อยที่ ๓ ที่ ๔ อยู่ในโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม กับใน ปี ร.ศ. ๑๒๗ มีจำนวนนักเรียนทวีขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก กรมยุทธนาธิการจึ้งได้ตั้งกองร้อยพิเศษขึ้นในโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมอีกกองร้อยหนึ่ง เป็นการชั่วคราวเฉพาะเวลาที่มีนักเรียนมากล้นอยู่ในโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมนี้

ตามระเบียบที่จัดมานี้ เป็นอันตกลงชัดเจนว่า โรงเรียนนายร้อยชั้นประถมเป็นโรงเรียนที่ปกครองการงานชั้นประถมศึกษา โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมเป็นโรงเรียนที่ปกครองการงานชั้นมัธยมศึกษา

อนึ่ง ตามข้อบังคับที่กล่าวมาแล้วนั้น กรมยุทธนาธิการจึงได้จัดให้มีกรมบัญชาการโรงเรียนทหารบกขึ้น มีผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบกเป็นหัวหน้า มีปลัดกรม ยกระบัตร นายเวรและแพทย์เป็นผู้ช่วย มีหน้าที่อำนวยการศึกษาทั่วไป ตลอดจนการศึกษาในแผนกนักเรียนนายดาบ (ซึ่งเดิมเรียกว่านายทหารกองสมทบ) นั้นด้วย ทั้งมีหน้าที่อำนวยการปกครองในโรงเรียนนายร้อยทั้ง ๒ เช่น กรมบัญชาการกองพล อำนวยการทหารในมณฑล ฉะนั้น

กับในสมัยนี้ เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ร.ศ. ๑๒๗ โรงเรียนทหารบก ได้รับรางวัลโล่หลวงในการยิงเป้าแข่งขันตามที่มีกำหนดเลือกนายทหารทุก ๆ กรม ที่แม่นปืนมายิงแข่งขันปีละครั้งนั้น

และเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๗ ในการพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ในวันเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ที่หน้าพระลานสวนดุสิต โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมและประถม ได้รับพระราชทานธงไชยเฉลิมพลประจำโรงเรียนทั้ง ๒ โรงเรียน

ส่วนตำแหน่งผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยทั้ง ๒ นั้นในชั้นต้นคือในเดือนพฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๖ นายพันโทหลวงรามรณภพได้รับหน้าที่เป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม (แต่เมื่อยังเป็นนายพันตรี) นายพันโทหลวงหัดถสารศุภกิจ เป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม (แต่เมื่อยังเป็นนายพันตรีขุนวิธานสรเดช)

ครั้นเมื่อเดือนตุลาคม ร.ศ. ๑๒๗ นายพันโทหลวงรามรณภพย้ายไปรับราชการในหน้าที่อื่น นายพันตรีหลวงวิชิตพลหาญจึงได้เป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมสืบมา

ครั้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๘ นายพันตรีหลวงพิชิตพลหาญ ย้ายไปรับราชการเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๑๙ นายพันตรีหม่อมเจ้าทศศิริวงษ์ได้รับตำแหน่งเป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมมาจนถึงปัจจุบันนี้

การศึกษาในสมัยนี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ดำเนินไปตามเวลาของความเจริญ คือ

๑) ได้จัดให้มีการสอบไล่ระหว่างปีแก่นักเรียนนายร้อยและให้งดเลิกการสอบไล่กลางปี ซึ่งเคยมีมาแต่เดิมนั้นเสีย การสอนระหว่างปีนั้น คือแบ่งวิชาในหลักสูตรสำหรับสอนตามกำหนดเวลา ๑ ปี ออกเป็นตอน ๆ หรือเป็นแผนก ๆ แบ่งออกเป็น ๓, ๕, หรือ ๗ แผนกเป็นอย่างมาก เมื่อสอนไปจบแผนกหนึ่ง ๆ แล้วก็มีการสอบไล่คราวหนึ่ง ๆ แล้วก็จดแต้มไว้ เมื่อได้สอนและสอบไล่ทุก ๆ แผนกตลอดปีแล้ว เอาแต้มที่ได้ในแผนกนั้น ๆ รวมเข้าด้วยกัน แล้วเอาจำนวนแผนกที่สอบหาร เมื่อได้ผลเท่าใดก็เอาไปรวมกับแต้มที่กรรมการสอบไล่สิ้นปี แล้วเอา ๒ หาร ผลหารนั้นเป็นแต้มที่ได้จากการสอบไล่ใหญ่สิ้นปี

ที่กระทำเช่นนี้เห็นว่าเป็นวิธีดีกว่าวิธีที่ได้กระทำแต่แล้ว ๆ มา ข้อสำคัญที่จะยกว่าดีนั้นก็คือจะให้นักเรียนต้องหมั่นเล่าเรียนเสมอ ด้วยจะทำให้ตนต้องพยายามที่จะมีแต้มในการสอบทุกคราว ถ้ามิฉะนั้น นักเรียนที่ถือว่าตนมีปัญญาดี อาจละเลยการเล่าเรียนเสียครึ่งหรือค่อนปี แล้วจู่เข้ามาจ้ำเรียนเอาปลาย ๆ ปี บางทีก็สอบไล่ได้ การที่สอบไล่ได้โดยที่เล่าเรียนอย่างรีบร้อนชั่วคราวเช่นนี้ เมื่อสำเร็จการเล่าเรียนแล้ว วิชาบางอย่างก็อาจลืมได้โดยง่าย ถ้าต้องเรียนอยู่เนืองนิตย์เช่นนี้ถูกสอบระหว่างปีเช่นนั้นความจำก็จะช่ำชองดีกว่า

๒) การให้แต้มนั้นใช้เกณฑ์แต้ม ๑๒ เป็นจำนวนเต็ม ไม่ว่าวิชาอันใด ใช้แต้ม ๑๒ ทั้งสิ้น ใน ๑๒ แต้มนั้นผู้สอบจะให้เท่าใดก็ได้ในระหว่าง ๐ ถึง ๑๒ แล้วแต่ความเลวความดีของการตอบวิชานั้น

การที่มีเกณฑ์แต้มในการสอบไล่น้อยเช่นนี้เป็นการสะดวกอย่างยิ่งในที่จะวินิจฉัยว่าควรให้มากหรือน้อยเพียงใด ทั้งได้มีปรากฏในข้อบังคับโรงเรียนทหารบกอยู่แล้ว ว่ามีความสามารถเพียงใด ควรให้แต้มเท่าใด ฉะนั้น

๓) ได้เพิ่มหลักสูตรขึ้น คือ นักเรียนห้องชั้น ๓ โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม ซึ่งเป็นห้องสุดท้าย ให้เรียนคำนวณวิธีถึงตริโกณมิต (ตริกโณเมตรี) กับห้องชั้น ๓ โรงเรียนนายร้อยชั้นประถมได้เพิ่มลักษณะปกครองกับเรขาวิธีด้วย และห้องชั้น ๒ ชั้น ๓ โรงเรียนนายร้อยชั้นประถม กับห้องชั้น ๑ ชั้น ๒ โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม ก็ให้เรียนพงศาวดารขึ้นอีกวิชาหนึ่งกับวิชาทหารและวิชาสามัญอื่น ๆ ก็ได้เพิ่มขึ้นอีกมาก ใช่แต่เพิ่มวิชาขึ้นเท่านั้นซ้ำยังต้องมีการเล่าเรียนให้เต็มภาคภูมิตามหลักสูตรจริง ๆ ด้วย กับได้แยกหมวดวิชาทหารออกเป็น ๒ ประเภท คือประเภทการศึกษาและการฝึกหัด รวมวิชาทั้งปวงเป็น ๓ ประเภท ทั้งประเภทวิชาสามัญ

อนึ่ง ยังมีการสอบไล่วิชาครูในชั้นต้นที่จะเข้าเป็นครูให้เห็นว่ามีความรู้ถ่องแท้เพียงไรในการสอบไล่วิชาครูชนิดนี้ ผู้บัญชาการโรงเรียนมักจะทรงประทับสอบด้วย เหตุด้วยจะกลั่นเอาครูที่ดีพอพระทัย เพราะฉะนั้น การที่ต้องสอนวิชาให้เต็มภาคภูมิของหลักสูตร ซึ่งทวีขึ้นตามที่กล่าวมาแล้วนั้น จึงเป็นอันสำเร็จได้

ยังมีการสอบไล่วิชาครูอีกชนิดหนึ่ง โดยที่ผู้บัญชาการทรงตั้งประธานกรรมการและกรรมการให้สอบครูที่ยังไม่มีประกาศนียบัตรครูมากจากกรมศึกษาธิการ เพื่อจะรับเกียรติยศเป็นนายทหารสัญญาบัตรตามซึ่งได้ทรงจัดการขอร้อง ให้ครูมีเกียรติยศเป็นนายทหารสัญญาบัตรขึ้น ดังจะได้กล่าวต่อไปในแผนกครูอาจารย์นั้น หรือครูที่ปรารถนาจะเลื่อนยศหรือชั้นให้สูงขึ้นไป ก็สมัครสอบได้เหมือนกัน และถึงแม้ว่าครูจะได้สอบวิชาสามัญได้แล้วบริบูรณ์ก็ดี เมื่อก่อนเวลาที่จะได้รับยศเป็นนายทหารสัญญาบัตร ก็ต้องสอบไล่แบบฝึกหัดและข้อบังคับ ซึ่งเป็นส่วนวิชาทหารให้ได้เสียก่อนอีกด้วย

การรับสมัครเข้าเป็นนักเรียนนายร้อย ซึ่งแต่เดิมเป็นหน้าที่ของกรมปลัดทัพบก ก็ได้โอนมาในหน้าที่ของกรมบัญชาการโรงเรียนทหารบก และต่อไปจะได้รับบุคคลซึ่งสมัครเป็นนักเรียนนายร้อยนั้นดังนี้

๑) บุตรข้าราชการสัญญาบัตร

๒) ราชนิกูล

๓) ผู้ที่เป็นเชื้อพระวงศ์ ตั้งแต่ชั้นหม่อมหลวงขึ้นไป เข้าเป็นนักเรียนนายร้อยในห้องชั้น ๑ ชั้น ๒ ชั้น ๓ โรงเรียนนายร้อยชั้นประถม และ ชั้น ๑ โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมได้ตามวุฒิ

๔) บุคคลสามัญทั่วไปจะเข้าเล่าเรียนได้แต่เฉพาะในห้องชั้น ๑ โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมเท่านั้น จะไม่รับเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยชั้นประถมเลยเป็นอันขาด

ต่อมาเมื่อเดือนพฤษภาคม ศกนี้ ได้เปลี่ยนนาม กองร้อยโรงเรียนนายร้อยชั้นประถมคือกองร้อยที่ ๓ เปลี่ยนนามเป็นกองร้อยที่ ๑ กองร้อยที่ ๔ เป็นกองร้อยที่ ๒ เพื่อประสงค์จะไม่ต้องนับเลขหมายกองร้อยลำดับติดต่อกับกับโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม ครั้นต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ ได้เปลี่ยนนามห้องเรียนโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม คือ ห้องชั้น ๔ เป็นห้องชั้น ๑ ห้องชั้น ๕ เป็นห้องชั้น ๒ ห้องชั้น ๖ เป็นห้องชั้น ๓

ครั้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๘ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้นายร้อยตรีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนนครราชสีมา สำรองราชการกรมบัญชาการโรงเรียนทหารบก ผู้บัญชาการได้ทรงจัดให้ทรงทำหน้าที่ผู้บังคับหมวดในโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม เพื่อทรงทราบหน้าที่ของผู้น้อยแล้ว และเลื่อนสูงขึ้นไปตามลำดับอย่างนายทหารทั่วไป

ในสมัยนี้มีนักเรียนนายรวมทั้ง ๒ โรงเรียนประมาณ ๑๐๐๐ คนเศษ

อนึ่ง โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมได้ก่อสร้างสำเร็จแล้วเป็นส่วน ๆ เป็นลำดับมา (เริ่มสร้างที่ถนนราชดำเนินตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๕ ใช้เงินเหลือปลายปี) และได้รับนักเรียนเข้าประจำเล่าเรียน ตั้งแต่ปี ร.ศ. ๑๒๓ นับได้ประมาณ ๕ ปีเศษมาแล้ว การก่อสร้างพึ่งได้สำเร็จบริบูรณ์เรียบร้อยลงใน ปี ร.ศ. ๑๒๘ นี้ เพราะเหตุฉะนั้นจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดการพระราชพิธีเปิดโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม กำหนด ณ วันที่ ๒๖ ธันวาคม ศกนี้ ซึ่งเป็นวันมหามงคลสมัย จึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับ ณ สถานโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม พร้อมด้วยพระบรมวงษานุวงศ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาท พอได้เวลามหาศุภมงคลฤกษ์ จึงพระทรงกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เปิดโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม เพื่อให้เป็นศิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคล แก่โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม ซึ่งจะได้เป็นสถานศึกษาอันมั่นคงสืบไป

ในวันงานพระราชพิธีเปิดโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานรางวัลแก่นักเรียนนายร้อยที่สอบไล่ได้แต้มมาก ในคราวที่แล้วมานั้นด้วย


ผู้สอบไล่และการให้รางวัลแก่นักเรียน เครื่องแต่งตัว ถืออาวุธ (ตอนที่ ๘)



ิิ

ไม่มีความคิดเห็น: