วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2551

สมัยนายพลโท พระยาสีหราชเดโชชัย เป็นผู้บังคับการ (ตอนที่ ๔)

กลับหน้าแรกประวัติ


สมัยนายพลโท พระยาสีหราชเดโชชัย เป็นผู้บังคับการ

ครั้นต่อมาเมื่อ ปี ร.ศ. ๑๑๑ (พ.ศ. ๒๔๓๕) ซึ่งเป็นเวลาล่วงเข้าสมัยนายพลโท พระยาสีหราชเดโชชัย (หม่อมราชวงศ์ อรุณ) เป็นผู้บังคับการ และนายพันเอกพระสารสาสน์พลขันธ์ เมื่อครั้งเป็นร้อยเอกเยรินีเป็นอาจารย์ใหญ่ พอประจวบกับเวลาที่โรงเรียนหลังใหญ่ด้านเหนือริมถนนบำรุงเมือง ได้แล้วเสร็จบริบูรณ์ จึงได้จัดห้องอยู่และห้องเรียนใหม่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อนักเรียนได้มาอยู่ที่โรงเรียนเหล่าใหญ่นี้ ได้มีการเสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงเรียนเป็นการใหญ่ในวันที่ ๒๖ กันยายน รศ.๑๑๑ ( ยุทธโกษเล่ม ๑ หน้า ๖,๑๐๒ ว่าเปิดเมื่อ ๒๔ ก.ย. ๒๔๓๕) และต่อมากรมยุทธนาธิการก็ได้ตราข้อบังคับโรงเรียนขึ้นเป็นครั้งแรก ขนานนามโรงเรียนโดยชัดเจนว่า โรงเรียนทหารสราญรมย์(ชื่อนี้มีมาแต่ ๑๔ พ.ค. ๒๔๓๐ ตามข้อบังคับกรมทหารบกคำสั่งที่ ๓ บัญญัติโรงเรียนทหารสราญรมย์)

ในสมัยนี้นักเรียนได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๔ บาท วิชาที่เรียนก็เปลี่ยนรูปไปบ้าง คือ ได้ตัดเอายุคลิด และวิชาช่างไม้ออกเสีย ส่วนประเภทวิชาอื่น ๆ ที่ยังคงมีอยู่นั้นก็ให้เรียนพิสดารมากออกไป ต่อมาได้ตั้งต้นมีการสอบไล่ใหญ่สิ้นปี ในที่ประชุมนายทหารเป็นกรรมการแล้ว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานประกาศนียบัตร และรางวัลแก่นักเรียนที่มีความรู้สอบไล่ได้เลื่อนชั้นนั้น เมื่อเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลนักเรียนในคราวนี้ (ยุทธโกษเล่ม ๔ หน้า ๑๙๗,๑๘๙ เมื่อ ๒๘ พ.ย. ๒๔๓๘)ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานตุ๊กตารูปนายทหารท่าแทงกระบี่แก่ผู้บังคับการโรงเรียนคู่หนึ่ง เพื่อประดิษฐานไว้เป็นที่ระลึกแกโรงเรียนต่อไป และในสมัยนี้ได้ขนานนามโรงเรียนใหม่อีกครั้งหนึ่งว่า โรงเรียนนายร้อยทหารบก (เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ ตามทำเนียบยังเรียกว่า โรงเรียนทหารบก ประกอบด้วยโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม และ โรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม คำว่าโรงเรียนนายร้อยทหารบกยังไม่มี ?)

ครั้นเมื่อปี ร.ศ. ๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐) สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์ ในขณะเสด็จพระราชดำเนินประพาสทวีปยุโรปครั้งที่ ๑ เสด็จพระราชดำเนินตรวจการในโรงเรียน

อนึ่ง ใน ปี ร.ศ. ๑๑๖ นน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นนักเรียนนายร้อยพิเศษ ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิต และสมเด็จลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนพิศณุโลกประชานาถ

ครั้นเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ร.ศ.๑๑๖ ได้ยกเอากองนักเรียนนายสิบมาสมทบกับโรงเรียนนายร้อย รวมขึ้นอยู่ในความปกครองของผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อย จึงจัดให้นักเรียนนายสิบไปเรียนอยู่ในห้องเรียนด้านถนนราชินี ฝ่ายแผนกนักเรียนนายร้อยเป็นกองร้อยที่ ๑ ฝ่ายแผนกนักเรียนนายสิบเป็นกองร้อยที่ ๒ แต่นั้นมาโรงเรียนจึงได้เปลี่ยนนามว่า โรงเรียนสอนวิชาการทหารบก (พ.ร.บ. เพิ่มเติมจัดการกรมยุทธนาธิการ ร.ศ. ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓) เรียกว่าโรงเรียนสอนวิชาทหารบกก่อนหน้านี้ ๘ ปี)

เมื่อได้รวมนักเรียนนายร้อยกับนายสิบเข้าอยู่ในความบังคับการเดียวกันแล้ว จึงเผยโอกาสให้นักเรียนนายสิบ ที่สอบไล่ได้จากชั้นสูงสุดของนักเรียนนายสิบ และได้แต้มวิชาเป็นที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ให้เป็นนักเรียนนายร้อยชั้น ๑ ซึ่งตรงกับชั้น ๑ โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมปัจจุบันนี้

ครั้น ณ ปี ร.ศ. ๑๑๗ ได้ตั้งกรมเสนาธิการขึ้น (๑ เม.ย. ๒๔๔๑) และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้นายพลเอกพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นนายร้อยเอกพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจระประวัติวรเดช ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบกกรมยุทธนาธิการได้จัดให้กองโรงเรียนนายร้อยกรมยุทธศึกษา (ซึ่งตั้งขึ้นโดยที่จะได้กล่าวต่อไปข้างหน้าในเรื่องครูอาจารย์นั้น) ขึ้นอยู่ในกรมเสนาธิการด้วยกัน ระหว่างนี้กรมเสนาธิการได้จัดให้มีพระองค์เจ้าและหม่อมเจ้ากับบุตรข้าราชการสมัครเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยอีกโดยมาก แล้วกรมเสนาธิการได้จัดให้บรรดานักเรียนนายร้อยทั้งเก่าใหม่ นำดอกไม้ธูปเทียนไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ถวายตัวที่สนามหญ้าหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และได้นำไปถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามแต่ศกนั้นเป็นปฐมมา

ครั้ง ณ วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๑๗ ได้เปลี่ยนนามโรงเรียน ขนานนามว่า โรงเรียนทหารบก และในศกนี้เองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานรางวัลแก่นักเรียน และพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้เคาน์ออฟตุรินเจ้าแห่งประเทศอิตาลีมาเฝ้าในเวลานี้ด้วย แล้วต่อมาได้เพิ่มวิชาสรรพวุธวิธีและได้เพิ่มการฝึกหัดยุทธกรรม คือจัดให้นักเรียนไปซ้อมรบที่เมืองราชบุรี การซ้อมรบหรือการฝึกหัดยุทธกรรมก็เลยมีแต้มอีกส่วนหนึ่งเข้าบวกกับแต้มวิชาอื่น ๆ ในการสอบไล่นักเรียนแต่นั้นมา

อนึ่ง กรมยุทธนาธิการได้เลิกถอนตำแหน่งนายสิบประจำกองนักเรียน และได้เลือกตั้งนักเรียนให้เป็นหัวหน้าหมวด หมวดละคน กับหัวหน้าห้องเรียนตอนละคน และให้รับพระราชทานเงินเดือน ตามชั้นหัวหน้าหมวดเดือนละ ๑๖ บาท และหัวหน้าห้องเดือนละ ๘ บาท

ครั้น ณ วันที่ ๑ ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๗ ได้รับบุคคลเข้าเป็นนักเรียนตามข้อบังคับ ๔ ประการ คือ

๑) ต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตจากกรมเสนาธิการ ให้กรมยุทธศึกษาสอบวิชา

๒) ต้องเป็นผู้ที่กรมยุทธศึกษาสอบวิชาได้แล้วในชั้นหนึ่งชั้นใดตามความสามารถ

๓) ต้องเป็นผู้มีกิริยาอันสุภาพไม่เสียชื่อเสียง ทั้งปราศจากโรคและพิการต่าง ๆ

๔) เมื่อได้ตามข้อบังคับทั้ง ๓ ที่กล่าวแล้วนี้จึงจะได้รับอนุญาตจากกรมเสนาธิการให้เข้าเป็นนักเรียนนายร้อยได้

ในสมัยนี้มีนักเรียนประมาณ ๑๗๐ คนเศษ


สมัยนายพลโท พระยาวงษานุพันธ์ เป็นผู้บังคับการ (ตอนที่ ๕)


1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากเลยนะครับ สำหรับบทความ