วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2551

พาชมกองวิชา







การเรียนการสอนในห้อง ๒๐๙


การเรียนการสอนในห้อง ๒๐๖


การเรียนการสอนในห้อง ๑๐๕


การเรียนการสอนในห้อง ๑๐๖


ห้อง ๒๐๙


ห้องประชุมสัมมนา ๓๐๘


ห้องดนตรีไทย




ห้องทรงงาน


โถงนิทรรศการ


ห้องสมุด







หอเฉลิมรัฐสีมาคุณากร

หอเฉลิมรัฐสีมาคุณากรเป็นหอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่ง รร.จปร. น้อมเกล้าฯ จัดถวายเพื่อเฉลิมพระเกียรติ
พลเอกหญิง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบ
รมราชกุมารี นื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ
48 พรรษา 2 เมษายน 2546

ประวัติความเป็นมา

หอเฉลิมรัฐสีมาคุณากรแต่เดิมเป็นห้องนิทรรศการชั่วคราวสำหรับจัดแสดงพระรูปพระราชกรณียกิจใน “ทูลกระหม่อมอาจารย์” พลเอกหญิง สมเด็จพระเทพรัตนราชสา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงปฏิบัติ ณ รร.จปร. และพื้นที่นครนายก ซึ่งบางส่วนเคยจัดแสดงแล้ว เมื่อครั้งเสด็จฯ ทรงเปิดอาคารกองวิชาประวัติศาสตร์ 26 ธันวาคม 2536 ต่อมาในปี 2544 พลโทสมชาย อุบลเดชประชารักษ์ ผู้บัญชาการ รร.จปร. ขณะนั้น ให้ปรับปรุงเป็นหอเฉลิมพระเกียรติสำหรับจัดแสดงพระรูปและสิ่งของต่างๆ เกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ เพื่อเทิดพระเกียรติและเผยแพร่พระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อ รร.จปร. และพสกนิกรจังหวัดนครนายก การปรับปรุงและการจัดแสดงมาแล้วเสร็จในขณะที่พลโทชาตรี ศิรศรัณย์ ดรงตำแหน่งผู้บัญชาการ รร.จปร.

พระราชทานนาม และเสด็จฯ ทรงเปิด “หอเฉลิมรัฐสีมาคุณากร"

ในระหว่างดำเนินการปรับปรุง ทูลกระหม่อมอาจารย์ทงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อหอเฉลิมพระเกียรตินี้ว่า “หอเฉลิมรัฐสีมาคุณากร" ซึ่งประกอบขึ้นจากร้อยพระนาม โดยมีความหมายว่า “หอแห่งการสรรเสริญผู้สร้างคุณความดีแก่ประเทศชาติ” และพระราชทานพระราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย “สธ” ประดิษฐานที่ป้ายชื่อ อีกทั้งทรงพระมหากรุณาธิคุณเสด็จฯ ทรงเปิดหอเฉลิมรัฐสีมาคุณากรเมื่อ 5 สิงหาคม 2545

แนวคิดหลักของการจัดแสดง

หอเฉลิมรัฐสีมาคุณากรมุ่งสื่อแสดงว่า พระราชกรณียกิจที่ทูลระหม่อมอาจารย์ทรงปฏิบัติ ณ รร.จปร. นับแต่พุทธศักราช 2523 สืบมาจนถึงปัจจุบันได้มีส่วนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนา รร.จปร. ด้านต่างๆ ไม่โดยทางตรงก็ทางอ้อม เปรียบเสมือนทรงรับช่วงพระราชกรณียกิจที่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ต่างๆ เคยทรงปฏิบัติไว้ ประดุจทรงเป็นสะพานเชื่อมอดีตกับปัจจุบัน เพื่อทอดยาวสู่อนาคตต่อไป นอกจากนั้นยังมุ่งแสดงพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาในพื้นที่จังหวัดนครนายกอีกด้วย

นื้อหาการจัดแสดง

การจัดแสดงภายในหอเฉลิมรัฐสีมาคุณากรนั้น แบ่งเป็น 3 ส่วน
ส่วนที่
หนึ่ง (ส่วน A) เน้นพระราชกรณียกิจที่ทูลกระหม่อมอาจารย์ทรงปฏิบัติตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ณ รร.จปร. เช่น การทรงสอนและบริหาร โดยอัญเชิญพระรูป และสิ่งของส่วนพระองค์มาจัดแสดงส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งเป็นผลงานทางวิชาการต่างๆ ของกองวิชาประวัติศาสตร์ที่ทรงส่งเสริมและสนับสนุนให้ดำเนินการ

ส่วนที่สอง (ส่วน B) จัดแสดงสิ่งของ ซึ่งแยกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือ สิ่งของที่ทูลกระหม่อมอาจารย์พระราชทานแก่กองวิชาประวัติศาสตร์ ประกอบด้วยสิ่งของบางรายการที่มีทูลเกล้าฯ ถวายในการเสด็จฯ นำ นนร. ทัศนศึกษา และสิ่งของที่มีผู้ทูลเกล้าถวายในวาระอื่นๆ ประเภทที่สองคือ สิ่งของบางรายการที่มีผู้มอบให้กองวิชาประวัติศาสตร์

ส่วนที่สาม (ส่วน C) แสดงพระรูปและสิ่งของเพื่อแสดงให้เห็นว่า พระราชดำริที่กว้างไกล และพระราชกรณียกิจที่ไม่ได้ขีดวงจำกัดเพียงภายในรั้ว รร.จปร. ก่อให้เกิดการศึกษาวิจัยพื้นที่จังหวัดนครนายกอย่างเป็นระบบ และมีส่วนช่วยขยายการพัฒนาออกไปยังชุมนภายนอก และก่อให้เกิดโครงการพัฒนาพื้นที่จังหวัดนครนายกด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษา

แผนผังการจัดแสดง


- ชมภาพบรรยากาศภายในหอเฉลิมรัฐสีมาคุณากร คลิ๊กที่นี่



กลับหน้าแรก Blog

--------------------



โครงการบริหารจัดการขยะ กปศ.ฯ



กลับหน้าแรก Blog


โครงการบริหารจัดการขยะ กปศ.ฯ


เพื่อให้การบริหารจัดการขยะของ กปศ.ฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รับกับนโยบายของ รร.จปร. ดังนั้น กปศ.ฯ จึงได้ออกคำสั่ง กปศ.ฯ ที่ 4/2551 ลง 5 มิ.ย.51 เพื่อแต่งตั้งคณะทำงานขึ้น ประกอบด้วย นายทหารชั้นประทวน ลูกจ้างประจำ และพนักงานราชการ ให้เป็นคณะทำงานบริหารจัดการขยะของกองวิชา มีหน้าที่
1.เสนอแนะมาตรการการบริหารจัดการขยะ กำหนดวิธีการจัดการขยะ การนำกลับมาใช้ใหม่ การคัดแยก การทำลาย การจัดการขยะเพื่อก่อให้เกิดรายได้
2.ประชาสัมพันธ์มาตรการบริหารจัดการขยะให้กำลังพลทุกนายรับทราบ
3.กำกับดูแลการทิ้งขยะของกำลังพล ให้เป็นไปตามมาตรการที่กำหนด
4.ประดเมินผลการปฏิบัติงานทุก 3 เดือน
การคัดแยกขยะ 5 ขั้นตอน ดังนี้

1.เจ้าหน้าที่ทุกนายคัดแยกขยะที่มีขึ้นในแต่ละวันให้แล้วเสร็จภายใน 0900 และ 1500 ของทุกวัน โดยแยกตามประเภทของขยะดังนี้
1.1.ขยะที่เป็นกระดาษและกระดาษนั้นสามารถนำมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง เช่นกระดาษถ่ายเอกสารขนาด A4 ซึ่งใช้ด้านเดียวอีกด้านหนึ่งยังว่างอยู่และไม่สกปรก ให้นำส่งไปยังห้องธุรการ ขยะที่เป็นกระดาษนอกเหนือจากนี้ให้จัดเก็บในที่จัดเก็บขยะที่เป็นกระดาษ
1.2.กระดาษที่เป็นเอกสารสำคัญหรือมีชื่อของกำลังพล ติดอยู่ให้ฉีกครึ่ง (เพื่อป้องกันการนำไปทำเป็นถุงกระดาษ) หรือถ้าเป็นเอกสารที่ไม่สมควรจะให้บุคคลพลเรือนภายนอกรับทราบให้ฉีกทำลาย 1.3.ขยะที่เป็นพลาสติก เช่นขวดน้ำ แก้วน้ำ ให้จัดเก็บในที่เก็บขยะพลาสติก 1.4.ขยะที่เป็นแก้ว เช่นขวดเครื่องดื่มบำรุงกำลัง ขวดน้ำดื่ม ให้จัดเก็บในที่เก็บขยะที่เป็นแก้ว
1.3.ขยะที่เป็นพลาสติก เช่นขวดน้ำ แก้วน้ำ ให้จัดเก็บในที่เก็บขยะพลาสติก 1.4.ขยะที่เป็นแก้ว เช่นขวดเครื่องดื่มบำรุงกำลัง ขวดน้ำดื่ม ให้จัดเก็บในที่เก็บขยะที่เป็นแก้ว
1.5.ขยะที่เป็นโลหะ (สังกะสี อลูมิเนียม) เช่นกระป๋องน้ำอัดลม ให้จัดเก็บในที่เก็บขยะที่เป็นโลหะ
1.6.ขยะที่เป็นโลหะ (เหล็ก ทองแดง) เช่นเศษเหล็กเส้น เศษสายไฟ้ฟ้า ให้จัดเก็บในที่เก็บขยะที่เป็นโลหะเหล็ก
1.7.ขยะที่สามารถใช้ทำปุ๋ยได้ เช่น เปลือกผลไม้ ให้นำไปทำปุ๋ย EM เพื่อใช้ในกองวิชา
1.8.ขยะอื่นๆ ที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก ให้พิจารณาทิ้งหรือทำลายตามความเหมาะสม
2.คณะทำงานการบริหารจัดการขยะ กปศ.ฯ ตรวจสอบการแยกขยะแต่ละวันให้เรียบร้อย 3.เมื่อรวบรวมขยะต่างๆ ตามข้อ 1.2-1.6 ได้จำนวนมากแล้ว ให้คณะทำงานการบริหารจัดการขยะ จัดการขายขยะนั้นให้กับคณะกรรมการบริหารจัดการขยะ รร.จปร. เป็นอันดับแรก หรือผู้รับซื้อขยะที่เป็นกำลังพลของกองวิชา ตามความเหมาะสม
3.เมื่อรวบรวมขยะต่างๆ ตามข้อ 1.2-1.6 ได้จำนวนมากแล้ว ให้คณะทำงานการบริหารจัดการขยะ จัดการขายขยะนั้นให้กับคณะกรรมการบริหารจัดการขยะ รร.จปร. เป็นอันดับแรก หรือผู้รับซื้อขยะที่เป็นกำลังพลของกองวิชา ตามความเหมาะสม
4.นำรายได้สุทธิที่ได้รับจากการขายขยะส่งเข้าสมทบเงินสวัสดิการกำลังพลต่ำกว่าชั้นสัญญาบัตร
5.รายงานผลการปฏิบัติงานให้ผู้อำนวยการกองฯ ทราบทุก 3 เดือน ผลจากคำสั่งดังกล่าว ทำให้คณะทำงานได้บริหารจัดการขยะ โดยจัดให้มีจุดรับขยะ จุดคัดแยก และที่เก็บขยะประเภทต่างๆ เมื่อได้ขยะจำนวนมากพอแล้วก็จัดการขายขยะนั้น และนำรายได้ดัง กล่าวไปทำประโยชน์ให้กับกำลังพลเป็นส่วนรวม

โครงการบริหารจัดการขยะ กปศ.ฯ
จุดแยกขยะ


จุดเก็บขยะ



กลับหน้าแรก Blog


วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2551

ครูอาจารย์ นักเรียนสำรองราชการ นักเรียนนายดาบ (จบ)


กลับหน้าแรก Blog



กลับหน้าแรกประวัติ


ครูอาจารย์

ครูอาจารย์ตามที่กล่าวมาแล้วว่า รวมอยู่ในโรงเรียนทหารบกแต่ดั้งเดิมมา ครั้นเมื่อเดือนมกราคม ร.ศ.๑๒๔ (พ.ศ.๒๔๔๘) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งกรมยุทธศึกษาขึ้นกรมหนึ่งขึ้นตรงต่อกรมยุทธนาธิการ และตั้งนายพันเอกพระสารสาสน์พลขันธ์ เมื่อครั้งยังเป็นนายร้อยเอกเยรินี อาจารย์โรงเรียนนายร้อยนั้นให้เป็นเจ้ากรม จึงได้ให้บรรดาครูอาจารย์ที่ประจำอยู่ในโรงเรียนนายร้อยและโรงเรียนนายสิบนั้นมาสังกัดขึ้นอยู่ในปกครองของกรุมยุทธศึกษา แต่ก็คงมีหน้าที่ไปสอนอยู่ในโรงเรียนนั้น ๆ ตามเดิม กรมยุทธศึกษานี้ เมื่อตั้งขึ้นแล้ว ก็ได้มีปลัดกรมและนายเวรกับเสมียนพนักงาน และเพิ่มครูอาจารย์มากขึ้นเป็นอันดับมา

เมื่อได้ขยายการสอนวิชานักเรียนนายร้อยกว้างขวางออก ตามที่กล่าวแล้วว่าได้เพิ่มวิชาทหารขึ้นอีกนั้น ครูที่จะสอนวิชาทหาร นอกจากเจ้ากรมยุทธศึกษาแล้ว ก็ไม่มีใครอีก จึงต้องให้มีครูอาสาสอนวิชาทหารทั้งวิชาสามัญบางอย่าง ซึ่งยังขาดครูอยู่นั้นขึ้นอีกด้วย ครูอาสาในขั้นต้นนั้นก็มีคือ

๑) นายพลโทพระยาวงษานุประพัทธ์ เมื่อครั้งยังดำรงยศเป็นนายร้อยเอกหม่อมราชวงศ์ สท้าน สอนวิชาป้อมค่าย

๒. นายเรือเอกหม่อมไพชยนต์ เทพ เมื่อครั้งยังดำรงยศเป็นนายเรือโทหม่อมราชวงศ์พิณ สอนวิชาสรรพาวุธวิธี

๓) นายพลตรีพระยาสุรเสนา เมื่อยังดำรงยศเป็นนายร้อยเอกพระศัลยุทธวิธีกรร สอนวิชาภูมิศาสตร์

๔) นอกจากนี้ยังมีนายทหารประจำกอง สอนแบบฝึกหัดและข้อบังคับอีกหลายนาย

นายทหารที่เป็นครูอาสาชั้นต้นนี้ ได้รับพระราชทานเงินรางวัลทุกวิชา

แต่เดิมครูประจำโรงเรียนก็มีสภาพเป็นพลเรือน ครั้นมาเมื่อเดือนพฤษภาคม ร.ศ.๑๒๑ กรมยุทธศึกษาได้ขอให้ครูแต่งตัวอย่างนายทหารได้ แต่นั้นมาครูที่อยู่ในกรมยุทธศึกษาก็มีโอกาสที่จะได้รับเครื่องแต่งตัวอย่างนายทหาร ตามเวลาอันสมควร และครูที่ได้รับเครื่องแต่งตัวอย่างนายทหารแล้ว ก็เลยมีเกียรติยศเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และได้เข้าไปรับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยาในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามได้ เหมือนเช่นนายทหารสัญญาบัตรแต่นั้นมา

ครั้นต่อมาถึงปี ร.ศ.๑๒๒ กลับยกเอาครูสำหรับนักเรียนนายร้อยมาสมทบโรงเรียนนายร้อย และครูสำหรับนักเรียนนายสิบไปสมทบโรงเรียนนายสิบตามเดิม แต่นี้มาครูโรงเรียนนายร้อยกับนายสิบเลยต่างสังกัดผู้บังคับบัญชาโดยตรงเป็นฝ่าย ๆ กันไป

ฝ่ายครูโรงเรียนนายร้อยนั้น เมื่อปราศจากผู้บังคับบัญชาโดยตรงเฉพาะครู คือเจ้ากรมยุทธศึกษานั้นมาแล้ว โรงเรียนก็ได้จัดให้มีครูใหญ่ขึ้นตำแหน่งหนึ่ง คือ นายพันตรีหลวงอุปเทศทวยหาญ (แย้ม) ตั้งแต่ครั้งยังเป็นนายพันตรีแย้ม

ครั้นเมื่อวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ร.ศ.๑๒๕ นายพันตรีหลวงอุปเทศทวยหาญลาออกจากตำแหน่งครูใหญ่ ตำแหน่งครูใหญ่ก็เลยรวมอยู่ในหน้าที่ผู้บังคับการโรงเรียน เมื่อได้เปลี่ยนนายตำแหน่งผู้บังคับการเป็นผู้บัญชาการแล้ว ตำแหน่งครูใหญ่ก็รวมอยู่ในผู้บัญชาการโรงเรียนเหมือนกัน

ครั้นอยู่มาเมื่อปี ร.ศ.๑๒๖ (พ.ศ.๒๔๕๐) เป็นสมัยนายพลตรีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิศณุโลกประชานาถ ทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบก จึงได้ขอให้ครูมีโอกาสเป็นนายทหารสัญญาบัตร กรมยุทธนาธิการก็อนุญาตให้ แต่นั้นมาครูก็มีเขตที่จะได้เป็นนายทหารสัญญาบัตรโดยแท้ ตลอดมาจนทุกวันนี้

และในศกนั้นเอง ตามที่โรงเรียนนายร้อยได้แยกออกเป็น ๒ โรงเรียน โดยแน่นอนแล้ว จึงได้มีตำแหน่งหัวหน้าครูเพิ่มขึ้นในโรงเรียนทั้ง ๒ โรงเรียน โรงเรียนละ ๑ นาย หัวหน้าครูนี้มีหน้าที่ดูแลการศึกษาให้ดำเนินไปให้ถูกต้องตามข้อบังคับและแบบธรรมเนียม ส่วนวิธีจัดให้การศึกษาดำเนินไปอย่างใดนั้น เป็นหน้าที่ผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบกอำนวยการทั่วไป

นักเรียนสำรองราชการ

ตั้งแต่ปี ร.ศ.๑๒๒ (พ.ศ.๒๔๔๖) การทหารบกได้เจริญยิ่งขึ้นเป็นลำดับมา ความต้องการนายทหารสัญญาบัตรประจำกอง มีจำนวนเป็นอันมาก จนโดยลำพังนักเรียนนายร้อยที่จะสำเร็จวิชาออกเป็นนายทหารนั้น ก็หาทันความประสงค์ไม่ กรมยุทธนาธิการจึงได้ตั้งการฝึกหัดนักเรียนสำรองราชการขึ้นในโรงเรียนนายร้อย ซึ่งยอมรับนักเรียนประโยค ๒ และบางคราวก็รับนักเรียนแพทย์หรือครูกับพวกประเทศราช เข้าเป็นนักเรียนชนิดนี้ แต่ครูกับนายแพทย์ก็เป็นแต่นักเรียนพิเศษ นักเรียนเหล่านี้ให้ฝึกหัดเล่าเรียนวิชาทหารฝ่ายเดียว (วิชาสามัญไม่ต้องศึกษา) กำหนดเรียนแต่เพียง ๓ หรือ ๖ เดือนแล้วก็มีกรรมการสอบไล่ ในระหว่างที่เล่าเรียนอยู่นั้น นักเรียนสำรองราชการสามัญ (ไม่ใช่พิเศษ) ได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๓๐ บาท เบี้ยเลี้ยงเท่ากับนักเรียนนายร้อย และเครื่องอุปโภคบริโภคตามสมควร แต่ไม่ต้องอยู่ในโรงเรียนเหมือนเช่นนักเรียนนายร้อย และได้อาศัยที่ว่าการโรงเรียนนายร้อย ชั้นประถมเดี๋ยวนี้ เป็นที่ศึกษาเล่าเรียนและเครื่องแต่งตัวเฉพาะนักเรียนสำรองราชการนั้น ก็เหมือนอย่างนักเรียนนายร้อย เว้นแต่บ่ายศมีแถบทองขนาดกว้าง ๑ เซนติเมตรขลิบริมบ่า แต่ไม่มีแถบทองพาดกลางบ่าเช่นนักเรียนนายร้อยนั้น

นักเรียนสำรองราชการนี้ ได้มีมาจนถึงปี ร.ศ.๑๒๕ ก็ได้เลิกถอนเสีย ส่วนนักเรียนที่สอบไล่ยังไม่ได้นั้น ก็คงเหลืออยู่จนปลายปี ร.ศ.๑๒๖ จึงได้มีการสอบไล่เป็นคราวที่สุดของอายุนักเรียนสำรองราชการ ต่อนั้นมานักเรียนสำรองราชการก็เป็นอันหมดสิ้น

นักเรียนนายดาบ

ความประสงค์ที่จะให้มีนักเรียนนายดาบนั้น โดยเหตุว่า

๑) จำนวนนายทหารสัญญาบัตรในกองทัพนั้น ในเวลาสงบศึกและเวลาสงคราม ย่อมต้องมากน้อยต่างกัน ในเวลาสงบศึกมีจำนวนทหารประจำการอยู่น้อย ครั้นถึงเวลาสงครามจึงเรียกระดมนายทหารกองหนุนกองเกินอัตราเข้าประจำการเพิ่มเติม จำนวนนายทหารมีอยู่ในเวลาสงบศึก พอที่จะบังคับบัญชาพลทหารที่มีอยู่ในเวลาสงบศึก แต่เมื่อเติมพลทหารขึ้นในเวลาสงครามจำนวนนายทหารก็ต้องเติมขึ้นเหมือนกัน นายทหารจำนวนนี้จะให้มีประจำอยู่เสมอ ก็เป็นการเปลือง พระราชทรัพย์ จึงต้องให้ประจำอยู่ในกองหนุน เรียกเข้าประจำการพร้อมกับเวลาที่ระดมพลทหาร ก็การที่จะทำหน้าที่นายทหารที่ธรรมดาอยู่ในกองหนุน เรียกเข้าประจำการแต่ในเวลาสงคราม สำหรับทำหน้าที่นายหมวดโดยเฉพาะฉะนี้ ไม่จำเป็นต้องมีวิชาพิสดารมากนัก จึงไม่ต้องใช้นายทหารที่ออกจากโรงเรียนนายร้อย อันเป็นผู้ที่เรียนวิชาโดยสุขุมพิสดารนั้น จึงใช้บุคคลอีกจำพวกหนึ่งที่มีความรู้แต่พอสมควร ทำหน้าที่นายทหารที่ธรรมดาอยู่ในกองหนุน เข้าประจำการในหน้าที่ผู้บังคับหมวด แต่เฉพาะเวลาระดมทหารดังว่ามาแล้ว

๒) เพื่อเป็นโอกาสที่จะให้บุคคล ซึ่งปรารถนาจะเป็นนายทหารสัญญาบัตร แต่มีวิชาสามัญและอายุไม่พอที่จะเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยได้ และสามารถจะเข้าเป็นนักเรียนเพียงชั้นนายดาบได้ ก็อาจเข้าศึกษาวิชาในตำแหน่งนักเรียนนายดาบ ซึ่งเป็นหนทางที่จะดำเนินไปสู่โอกาสที่จะเป็นนายทหารสัญญาบัตรได้สืบไป

๓) เมื่อถึงสมัยที่ได้ใช้พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารเต็มที่แล้ว บุคคลที่ต้องเกณฑ์เป็นทหารทั้งหลายนั้น บางคนเป็นผู้มีทรัพย์สมบัติและที่ทำมาหากินตามภูมิลำเนาของตนอย่างบริบูรณ์ และไม่อยากจะรับราชการก็มี แต่เป็นความจำเป็นที่จุดที่จะต้องรับราชการทหารไม่ต่ำกว่า ๒ ปี ตามพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารนั้น แต่ตนมีวิชาสามัญพอที่จะเข้าเป็นนักเรียนนายดาบได้ และเป็นผู้ที่อยากจะได้ฐานันดรศักดิ์ตามฐานานุรูปของตน ก็จะได้สมัครเป็นนักเรียนนายดาบ ซึ่งเป็นทางเหมาะดีที่สุดแก่บุคคลชนิดนี้ เมื่อศึกษาวิชาสำเร็จ และเข้ารับราชการครบกำหนดตามพระราชบัญญัติแล้ว ก็จะได้ออกเป็นนายทหารกองหนุนทันที แล้วจะได้ไปประกอบการทำมาหาเลี้ยงชีพของตนตามภูมิลำเนาเดิมสืบไป

ตามที่กล่าวแล้วดังนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีตำแหน่งนักเรียนนายดาบขึ้นตามมณฑลต่าง ๆ ซึ่งได้ใช้พระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหารแล้วนั้น

นักเรียนนายดาบนี้แต่เดิมเรียกว่านักเรียนนายทหารกองสมทบซึ่งกรมยุทธนาธิการได้จัดตั้งขึ้นแต่ปี ร.ศ.๑๒๓ (พ.ศ.๒๔๔๗) เมื่อเริ่มมีในชั้นต้นก็เกิดขึ้นที่มณฑลราชบุรีและนครราชสิมาก่อนหน้าที่การปกครองและอำนวยการศึกษาแห่งนักเรียนนายทหารกองสมทบนั้น ก็อยู่ในผู้บัญชาการทหารบกมณฑลทั้งสิ้น ผู้บัญชาการทหารมณฑลต่างก็จัดระเบียบการปกครองและการศึกษาดำเนินตามข้อบังคับสำหรับนักเรียนนายทหารกองสมทบ ซึ่งกรมยุทธนาธิการได้ตราขึ้นไว้ตั้งแต่ปี ร.ศ.๑๒๓ แล้วนั้นสืบมา แต่ถึงแม้ว่าต่างมณฑลจะได้จัดการให้ดำเนินตามข้อบังคับดังกล่าวแล้วนี้ด้วยกันก็ดี แต่จะให้เหมือนเป็นพิมพ์เดียวกันนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้เป็นธรรมดา ส่วนวิชาที่ได้เรียนตามหลักสูตรในสมัยโน้น ถึงแม่ว่าจะยิ่งหย่อนหรือแตกต่างกันบ้างในระหว่างมณฑลก็ดี แต่ก็คงให้เรียนด้วยกันทุกมณฑลตามชนิดของวิชาดังจะได้กล่าวต่อไปนี้ คือ วิชาทหาร มียุทธวิธีป้อม ค่าย สรรพาวุธวิธี แผนที่ แบบฝึกหัดและข้อบังคับทหารบก และวิชาสามัญมีหนังสือไทยกับวิชาเลขเป็นต้น

และชั้นศึกษาก็รวมเป็นชั้นเดียว เรียกว่านักเรียนนายทหารกองสมทบ กำหนดเรียนแต่ชั่วปีเดียวตลอดชั้น

บุคคลที่จะเข้าเป็นนักเรียนนายทหารกองสมบทได้นั้น ต้องประกอบด้วยคุณวุฒิดังต่อไปนี้

๑) เป็นผู้มีกำลังและร่างการบริบูรณ์ ซึ่งไม่มีอาการขัดแก่ราชการทหาร

๒) ไม่มีหนี้สินและไม่หลบหนีจากหน้าที่และโทษ และไม่ได้หลบหนีที่ได้กระทำเหตุร้ายอย่างใด ๆ ไม่มีคดีซึ่งต้องหาเป็นความอาญามีโทษ และบิดามารดาไม่ได้เป็นทาส และไม่ได้เป็นคนซึ่งอยู่ในระหว่างซึ่งต้องรับพระราชอาญา

๓) เป็นผุ้ที่ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๗ ปี และไม่เกินกว่า ๒๕ ปี และต้องมีกายสูงตั้งแต่ ๑๔๕ เซนติเมตรขึ้นไป เว้นแต่จ่านายสิบหรือนายสิบประจำกอง ไม่ต้องจำกัดอายุแต่ต้องจำกัดในอย่างอื่นทุกประการ

๔. ต้องเป็นผู้มีความรู้วิชาสามัญตามหลักสูตร ซึ่งกรมยุทธศึกษาได้จัดตั้งขึ้น

เครื่องแต่งตัวของนักเรียนนายทหารกองสมบทนั้น ให้มีแถบทองขนาดเล็กพาดขวางที่กลางบ่า นอกจากนั้นให้เป็นแบบเดียวกันกับพลทหาร เมื่อได้ออกสำรองราชการแล้วเครื่องแต่งตัวเป็นอย่างนายทหารชั้นนายร้อย เว้นแต่บ่ายศคงใช้อย่างเดิม

เมื่อได้เข้าเป็นนักเรียนนายทหารกองสมทบแล้ว ก็ได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๑๕ บาท เบี้ยเลี้ยงวันละ ๒๕ สตางค์ เว้นไว้แต่ที่ได้รับเงินเดือนอยู่แล้วสูวกว่าอัตรานี้ ก็คงให้รับตามเดิม และมีกำหนดเล่าเรียนได้ไม่เกินกว่า ๓ ปี ถ้าครบ ๓ ปี แล้วยังสอบวิชาไม่ได้ถึงนายทหารชั้นสัญญาบัตร ต้องปลดเป็นนายทหารกองหนุนชั้นที่ ๒ เว้นแต่ผู้นั้นยังจะสมัครรับราชการอยู่ต่อไป และกรมทหารบกมณฑลพอใจจะรับไว้ ก็ให้รับราชการต่อไปได้ในตำแหน่งซึ่งตนได้กระทำอยู่แล้วนั้น แต่ก็ให้ประจำกองในกรมทหาร เป็นขาดจากนักเรียนนายทหารกองสมทบ เมื่อสอบไล่ได้สำเร็จชั้นนักเรียนแล้ว กรมยุทธนาธิการจึงสั่งให้ออกสำรองราชการตามกรมและกองก็ได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๔๕ บาท เว้นเสียแต่ได้รับเงินเดือนอยู่แล้วสูงกว่าอัตรานี้ เมื่อสำรองราชการอยู่นั้นรับราชการได้เรียบร้อยดี กรมยุทธนาธิการก็จะให้เข้าประจำกองมีเกียรติยศเป็นนายทหารสัญญาบัตร

การสอบไล่นักเรียนนายทหารกองสมบทออกสำรองราชการดังที่กล่าวแล้วนี้ กรมยุทธนา ธิการได้ตั้งกรรมการไปสอบไล่ทุกคราว ส่วนการสอบไล่ที่จะเข้าเป็นนักเรียนและเลื่อนขึ้นเป็นนายสิบนั้น ผู้บัญชาการทหารบกมณฑลเป็นผู้ตั้งกรรมการ

ครั้นต่อมาเมื่อปี ร.ศ.๑๒๖ หน้าที่อำนวยการศึกษาของนักเรียนนายทหารกองสมทบได้โอนเข้าอยู่ในผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบก ซึ่งตรงกับสมัยนายพลตรีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิศณุโลกประชานาถทรงดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบกนั้น จึงได้ทรงจัดระเบียบการศึกษาสำหรับนักเรียนนายทหารกองสมทบให้ลงเป็นแบบเดียวกันได้ แต่บัดนี้มามณฑลต่าง ๆ ที่ได้มีนักเรียนนายทหารกองสมทบ ก็ได้ดำเนินทางการศึกษาตามระเบียบของผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบก ซึ่งได้ตราออกไปนั้น

ในระเบียบการศึกษานั้นมีหลักสูตรสำหรับสอบวิชาผู้ที่จะเข้าเป็นนักเรียนนายทหารกองสมทบ และหลักสูตรสำหรับสอนนักเรียนนายทหารกองสมทบตลอดจนสอบไล่ออกสำรองราชการ หลักสูตรทั้ง ๒ ชนิดนี้ได้บ่งวิชาให้เรียนเป็นบทและมาตราอย่างชัดเจนแน่นอนขึ้น กับได้บ่งชี้บุคคลชนิดใดให้เป็นผู้บัญชาการทหารบกมณฑลเลือกขึ้นเป็นหัวหน้าครู ซึ่งจะได้รับผิดชอบในแผนกศึกษาเหมือนเช่นหัวหน้าครูสำหรับโรงเรียนนายร้อยทั้ง ๒ นั้นด้วย กับผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบกมีหน้าที่กำหนดว่าครูจะต้องมีความสามารถเพียงใด จึงสมควรที่จะเป็นครูสำหรับสอนนักเรียนนายทหารกองสมทบนั้น การศึกษาของนักเรียนนายทหารกองสมทบ ก็ค่อยสมบูรณ์ขึ้นเป็นอันดับมา และในปี ร.ศ.๑๒๖ นั้น จึงได้มีนักเรียนนายทหารกองสมทบตั้งขึ้นในมณฑลกรุงเทพฯ อีกมณฑลหนึ่ง และบรรดาครูที่สอนวิชาสามัญแก่นักเรียนนายทหารกองสมทบตลอดจนครูสำหรับนักเรียนนายสิบ ซึ่งมีสภาพเป็นพลเรือนนั้น ก็มีโอกาสที่จะเป็นนายทหารสัญญาบัตรได้เช่นเดียวกันกับครูสอนวิชาสามัญโรงเรียนนายร้อย ตามที่กล่าวมาแล้วในเรื่องครูอาจารย์

การสอบไล่ผู้สมัครเป็นนักเรียนนายทหารกองสมทบ ก็ได้ดำเนินไปในระเบียบดันดีด้วยเหมือนกัน โดยเหตุที่ประเภทการสอบไล่ตามที่ได้แยกอยู่แล้วเป็น ๒ ประเภทคือ ประเภทที่ ๑ สอบไล่ ผู้สมัครเข้าเป็นนักเรียนนายทหารกองสมทบ และเลื่อนตำแหน่งยศขึ้นเป็นนายสิบ กับการสอบไล่นักเรียนนายทหารกองสมทบออกสำรองราชการ รวมทั้ง ๒ ประเภทนั้น ผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบกหรือผู้แทนต้องไปในการสอบด้วยทุกคราว

ในการที่ผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบกหรือผู้แทนไปในการสอบไล่นั้น ใช่แต่จะเป็นประโยชน์ในการสอบไล่โดยเฉพาะเท่านั้นหามิได้ ยังมีประโยชน์อย่างอื่น ๆ แห่งระเบียบการศึกษาอีกด้วย คือผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบก จะได้ทราบเหตุการณ์แห่งระเบียบการศึกษา ซึ่งตามมณฑลได้ดำเนินการมาแล้ว และกระทำอยู่เป็นอย่างไร เพื่อจะได้เป็นหนทางให้ผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบกดำริการแก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบการศึกษา ที่หากว่าจะมีการขัดขวางหรือบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด ให้ดำเนินไปสู่ในทางดีที่สุดจะดีได้สืบไปอีกส่วนหนึ่งด้วย

ครั้นเมื่อปี ร.ศ.๑๒๗ (พ.ศ.๒๔๕๑) กรมยุทธนาธิการได้ตราข้อบังคับขึ้นใหม่ ได้เปลี่ยนนามนักเรียนนายทหารกองสมทบเป็นนักเรียนนายดาบและแก้ไขเปลี่ยนแปลงการอื่นบ้าง ซึ่งจะนำมากล่าวแต่บางเรื่อง คือ นักเรียนให้ได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๘ บาท เบี้ยเลี้ยงวันละ ๒๕ สตางค์ เมื่อได้ออกสำรองราชการให้ได้รับเงินเดือน เดือนละ ๓๐ บาท เว้นแต่ผู้ที่เป็นนายสิบ หรือนายทหารชั้นใด ซึ่งได้รับเงินเดือนสูงกว่าอัตรานี้อยู่แล้ว ก็คงให้ได้รับตามอัตราเงินเดือนตามตำแหน่งเดิม และเมื่อเป็นนายดาบแล้ว แต่งกายอย่างนายทหารชั้นนายร้อยเว้นแต่แถบทองขลิบที่ริมบ่ายศมีขนาดกว้างเพียงกึ่งเซนติเมตร มียศสูงกว่าจ่านายสิบและถัดรองนายร้อยตรี มีหน้าที่บังคับหมวดประจำกอง และเมื่อประจำการอยู่ ก็ได้รับพระราชทานเงินเดือนและเบี้ยกันดารเช่นเดียวกับนายร้อยตรีชั้น ๓ เมื่อรับราชการครบ ๒ ปีแล้ว นับตั้งแต่วันที่ได้เข้าเป็นนักเรียนก็จะได้ออกเป็นนายดาบกองหนุรับเบี้ยหวัดตามส่วนแบ่ง เช่นเดียวกันกับนายร้อยตรีชั้น ๓

เมื่อสอบไล่วิชาสำเร็จเป็นนายดาบแล้ว มีโอกาสที่จะเป็นนายทหารสัญญาบัตรได้โดยความชอบพิเศษ หรืออีกประการหนึ่ง ถ้านายดาบผู้ใดสมัครเล่าเรียนเพิ่มเติม ให้มีความรู้เทียบเท่ากับผู้ที่ออกเป็นนายทหารจากโรงเรียนนายร้อยแล้ว กรมยุทธนาธิการก็เลือกคัดผู้ที่สมัคร ซึ่งมีความประพฤติดี ส่งมาเล่าเรียนวิชาเพิ่มเติมที่กรมบัญชาการโรงเรียนทหารบก เมื่อเรียนอยู่ครบรอบปีต้องสอบไล่ตามหลักสูตรนักเรียนนายร้อยออกเป็นนายทหาร ผู้ใดสอบไล่ไดดีผู้นั้นจะได้รับพระราชทานสัญญาบัตรเป็นนายร้อยตรี และทำราชการสืบไปอย่างผู้ที่ออกจากโรงเรียนนายร้อยทุกประการ ผู้ที่สอบไล่ไม่ได้ออกเป็นกองหนุนตามระเบียบ

ครั้นเมื่อปี ร.ศ.๑๒๘ กรมยุทธนาธิการจึงได้จัดนายดาบ ในมณฑลต่าง ๆ เข้ามาศึกษาวิชาที่กรมบัญชาการโรงเรียนทหารบกตามระเบียบนี้ใช้หลักสูตรพิเศษ ซึ่งกรมบัญชากรรโรงเรียนทหารบกได้จัดทำขึ้น นายดาบพวกนี้ได้มาจากกองพลที่ ๑ มณฑลกรุงเทพฯ ๒ คน กองพลที่ ๔ มณฑลราชบุรี ๒ คน กองพลที่ ๕ มณฑลนครราชสีมา ๓ คน รวม ๗ คน เป็นนายดาบชุดแรกที่ได้เข้าศึกษาวิชาตามระเบียบใหม่นี้

อนึ่ง เมื่อเดือนตุลาคม ร.ศ.๑๒๘ (พ.ศ.๒๔๕๒) นี้ กรมยุทธนาธิการได้ออกข้อบังคับจัดระเบียบการศึกษาของนักเรียนนายดาบใหม่ คือให้รวบรวมกันมาเล่าเรียนที่กรุงเทพฯ ในความปกครองของกรมบัญชาการโรงเรียนทหารบกโดยแท้ ระเบียบนี้จะได้ใช้แต่ปี ร.ศ.๑๒๙ เป็นต้นไป และคงจะเป็นหนทางที่ให้นักเรียนนายดาบได้รับความรู้ และความฝึกฝนสม่ำเสมอเหมือนกันหมดไม่แตกต่างกันเหมือนเมื่อแยกเรียนอยู่ตามกองพล สามารถแลเห็นประโยชน์ ที่จะมียิ่งขึ้นภายหน้าเป็นอันมาก


ผู้สอบไล่และการให้รางวัลแก่นักเรียน เครื่องแต่งตัว ถืออาวุธ (ตอนที่ ๘)

กลับหน้าแรกประวัติ


ผู้สอบไล่และการให้รางวัลแก่นักเรียน

ในการสอบไล่วิชานักเรียนคราวใด กรมยุทธนาธิการได้ตั้งกรรมการสอบไล่เป็นคณะทุกครั้ง แต่ไม่มีประธานกรรมการ ต่อเมื่อปี ร.ศ.๑๑๗ ได้มีนายพละอกพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นนครชัยศรีสุรเดช เมื่อทรงดำรงพระยศเป็นนายพันเอก พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช เสนาธิการทหารบก ได้ทรงเป็นประธานกรรมการ เลยเป็นแบบอย่างแต่นั้นมา

ถ้าผู้ได้สอบไล่วิชาได้แต้มมากเป็นที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ในประเภทวิชา หนึ่ง / ใด กับในประเภทรวมแต้มทั้งสิ้น ก็จะได้รับพระราชทานรางวัลเป็นเกียรติยศ และในการการพระราชทานรางวัลนี้บางครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานให้ที่โรงเรียนตามซึ่งได้มีปรากฏมาแล้วในสมัยของผู้บังคับการบางท่าน ทั้งในงานเสด็จพระราชทานรางวัลนั้นก็แต่งเต็มยศด้วยทุกคราว

เครื่องแต่งตัว

เมื่อปีกุญนพศกจุลศักราช ๑๒๔๙ (พ.ศ.๒๔๓๐) ในเวลานั้นนักเรียนได้ใช้เครื่องแต่งตัวโดยกรมยุทธนาธิการได้จัดขึ้น

เต็มยศ เสื้อสักหลาดสีน้ำเงินแก่ ที่คอ ข้อมือและที่บ่าทาบสักหลาดแดง มีอักษรพระบรมนามาภิธัยย่อเป็น จ.ป.ร. ปักด้วยดิ้นทองและเงินบนกำมะหยี่ดำติดทับบนกลางบ่ายศตามริมเสื้อที่หน้าอกขลิบสักหลาดแดง ดุมเสื้อกลมกะไหล่ทองมี จ.ป.ร. กางเกงสักหลาดสีน้ำเงินแก่ขลิบลวดสักหลาดแดงกลมตามตะเข็บขาขนาด ๑ ซองติเมตร หมวกแฮลเมตมีตราแผ่นดินและเครื่องพร้อม

ครึ่งยศ เสื้อผ้าเสริท์สีน้ำเงินแก่ ขลิบลวดแดงที่ข้อมือ คอ หน้าอก สีบ่ายศเหมือนสีเสื้อและไม่มี จ.ป.ร. กางเกงเสริท์ดำขาขลิบลวดแดง หมวกแก๊ปขาวมีกระบังดำมีลวดทองกลมติดรัดที่หน้าหมวก

กับอนุญาตให้นุ่งผ้าและสวมเสื้อราชปะแตนต์ขาวกับหมวกแฮลเมต (ไม่มีเครื่อง) สำหรับแต่งตามธรรมดาได้ด้วย

ครั้นต่อมาได้เพิ่มเสื้อกางเกงผ้าสีกากีตามอย่างพลทหาร กับมีบ่ายศและข้อมือเสื้อสีเหลืองสำหรับใช้แต่งเมื่อฝึกหัดและเล่าเรียน

ครั้นเมื่อปี ร.ศ.๑๑๗ ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเครื่องแต่งตัว ดำเนินตามคราวแก้ไขเครื่องแต่งตัวนายทหารและพลทหารบก ซึ่งได้ตราไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องแต่งตัวทหารรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ (พ.ศ.๒๔๔๐) นั้นดังนี้

เต็มยศ เสื้อสักหลาดสีเทาและมีสีแดงชาดขลิบที่คอ บ่ายศสักหลาดแดงมีแถบทองเล็กพาดกลาง กางเกงเสริท์ดำขลิบลวดแดง เข็มขัดกับซองดาบพร้อม หมวกแฮลเมตมีเครื่องพร้อมอย่างเดียวกับที่เคยได้ใช้มาแต่เดิม

ครึ่งยศ ให้ใช้สับเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวในระหว่างเต็มยศกับธรรมดาตามเกณฑ์ในงานต่าง ๆ คล้ายกับนายทหารสัญญาบัตร

ธรรมดา เสื้อกางเกงผ้าลายสองขาว (เสื้อราชปะเตนต์) บ่ายศเหมือนบ่ายศเต็ม หมวกแก๊ปสีเทาทรงหม้อตาลปลอกขาว มีประทุมอุณาโลมติด และมีสายดำรัดหน้าหมวก กับเมื่อปี ร.ศ.๑๒๖ (พ.ศ.๒๔๕๐) ได้ให้นักเรียนใช้เครื่องสนาม สำหรับการฝึกหัดและเล่าเรียนอยู่เป็นธรรมดา เครื่องสนามนั้นคือ กางเกงสีน้ำเงินแก่ขาสั้น เสื้อรูปกระสอบสีเทาคอพับกับสนับแข้งหนังสีน้ำตาล รองเท้าหนังสีน้ำตาล หมวกแก๊ปปลอกสีเทากับเครื่องพร้อม

ถืออาวุธ

เมื่อปีกุญนพศกจุลศักราช ๑๒๔๙ (พ.ศ.๒๔๓๐) ถือปืนเฮนรีมาร์ตินี ต่อมาถึงปี ร.ศ.๑๑๐ (พ.ศ.๒๔๓๔) ถือปืนแมลลิเคอร์อย่างยาว จนถึงปี ร.ศ.๑๑๒ ถือปืนแมลลิเคอร์อย่างสั้น และเมื่อปี ร.ศ. ๑๒๒ (พ.ศ.๒๔๔๖) ได้ถือปืน ร.ศ.๑๒๑ มาจนทุกวันนี้



ครูอาจารย์ นักเรียนสำรองราชการ นักเรียนนายดาบ (จบ)


สมัยนายพลตรี สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิศณุโลกประชานาถ ทรงบัญชาการ (ตอนที่ ๗)

กลับหน้าแรกประวัติ


สมัยนายพลตรี สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิศณุโลกประชานาถ ทรงบัญชาการ

ในปี ร.ศ. ๑๒๕ (พ.ศ. ๒๔๔๙) กรมยุทธนาธิการได้คิดเปลี่ยนวิธีดำเนินการในเรื่องยุทธศึกษาใหม่ คือ คิดให้มีตำแหน่งหน้าที่ราชการขึ้นใหม่ซึ่งเรียกว่าผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบก ให้เป็นผู้อำนวยการศึกษาของบุคคลที่จะเล่าเรียน เพื่อประสงค์รับราชการในหน้าที่นายทหารชั้นสัญญาบัตรนั้นโดยทั่วไป ทั้งเป็นผู้รับผิดชอบในทางปกครองในโรงเรียนนายร้อยโดยเฉพาะด้วย

ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรกกระหม่อม ให้นายพลตรีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนพิศณุโลกประชานาถ เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบก เป็นพระองค์แรก แต่ ณ วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๕ และในชั้นต้นก็ได้ทรงทำหน้าที่ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อย ดังที่ผู้บังคับการแต่ก่อนได้กระทำมาแล้วนั้นต่อไปจนกว่ากรมยุทธนาธิการวางระเบียบไหม้ให้ตลอด

ครั้น ณ วันที่ ๑ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๖ (๒๔๕๐) กรมยุทธนาธิการจึงได้ตราข้อบังคับขึ้นใหม่วางระเบียบการยุทธศึกษาทั่วไป เรียกว่าข้อบังคับโรงเรียนทหารบก ร.ศ. ๑๒๖ มีการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

แบ่งโรงเรียนนายร้อยออกเป็น ๒ โรงเรียน ตามที่มีสถานที่อยู่เป็น ๒ แห่งแล้ว เรียกว่า โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม ๑ โรงเรียนนายร้อยชั้นประถม ๑ มีผู้บังคับการเป็นผู้ปกครอง ประจำโรงเรียน โรงเรียนละ ๑ นาย มีหน้าที่และอำนาจเท่ากับผู้บังคับการกรมทหารขึ้นต่อผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบก อย่างเดียวกับผู้บังคับการกรมขึ้นต่อผู้บัญชาการกองพล มีนายเวรยกระบัตรและแพทย์ประจำโรงเรียนต่างหน้าที่กัน

ในโรงเรียนหนึ่งมีกองร้อย ๒ กองร้อย คือ กองร้อยที่ ๑ กับกองร้อยที่ ๒ อยู่ในโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม กองร้อยที่ ๓ ที่ ๔ อยู่ในโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม กับใน ปี ร.ศ. ๑๒๗ มีจำนวนนักเรียนทวีขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก กรมยุทธนาธิการจึ้งได้ตั้งกองร้อยพิเศษขึ้นในโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมอีกกองร้อยหนึ่ง เป็นการชั่วคราวเฉพาะเวลาที่มีนักเรียนมากล้นอยู่ในโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมนี้

ตามระเบียบที่จัดมานี้ เป็นอันตกลงชัดเจนว่า โรงเรียนนายร้อยชั้นประถมเป็นโรงเรียนที่ปกครองการงานชั้นประถมศึกษา โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมเป็นโรงเรียนที่ปกครองการงานชั้นมัธยมศึกษา

อนึ่ง ตามข้อบังคับที่กล่าวมาแล้วนั้น กรมยุทธนาธิการจึงได้จัดให้มีกรมบัญชาการโรงเรียนทหารบกขึ้น มีผู้บัญชาการโรงเรียนทหารบกเป็นหัวหน้า มีปลัดกรม ยกระบัตร นายเวรและแพทย์เป็นผู้ช่วย มีหน้าที่อำนวยการศึกษาทั่วไป ตลอดจนการศึกษาในแผนกนักเรียนนายดาบ (ซึ่งเดิมเรียกว่านายทหารกองสมทบ) นั้นด้วย ทั้งมีหน้าที่อำนวยการปกครองในโรงเรียนนายร้อยทั้ง ๒ เช่น กรมบัญชาการกองพล อำนวยการทหารในมณฑล ฉะนั้น

กับในสมัยนี้ เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ร.ศ. ๑๒๗ โรงเรียนทหารบก ได้รับรางวัลโล่หลวงในการยิงเป้าแข่งขันตามที่มีกำหนดเลือกนายทหารทุก ๆ กรม ที่แม่นปืนมายิงแข่งขันปีละครั้งนั้น

และเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๗ ในการพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ในวันเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ที่หน้าพระลานสวนดุสิต โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมและประถม ได้รับพระราชทานธงไชยเฉลิมพลประจำโรงเรียนทั้ง ๒ โรงเรียน

ส่วนตำแหน่งผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยทั้ง ๒ นั้นในชั้นต้นคือในเดือนพฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๖ นายพันโทหลวงรามรณภพได้รับหน้าที่เป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม (แต่เมื่อยังเป็นนายพันตรี) นายพันโทหลวงหัดถสารศุภกิจ เป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม (แต่เมื่อยังเป็นนายพันตรีขุนวิธานสรเดช)

ครั้นเมื่อเดือนตุลาคม ร.ศ. ๑๒๗ นายพันโทหลวงรามรณภพย้ายไปรับราชการในหน้าที่อื่น นายพันตรีหลวงวิชิตพลหาญจึงได้เป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมสืบมา

ครั้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๘ นายพันตรีหลวงพิชิตพลหาญ ย้ายไปรับราชการเป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๑๙ นายพันตรีหม่อมเจ้าทศศิริวงษ์ได้รับตำแหน่งเป็นผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมมาจนถึงปัจจุบันนี้

การศึกษาในสมัยนี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ดำเนินไปตามเวลาของความเจริญ คือ

๑) ได้จัดให้มีการสอบไล่ระหว่างปีแก่นักเรียนนายร้อยและให้งดเลิกการสอบไล่กลางปี ซึ่งเคยมีมาแต่เดิมนั้นเสีย การสอนระหว่างปีนั้น คือแบ่งวิชาในหลักสูตรสำหรับสอนตามกำหนดเวลา ๑ ปี ออกเป็นตอน ๆ หรือเป็นแผนก ๆ แบ่งออกเป็น ๓, ๕, หรือ ๗ แผนกเป็นอย่างมาก เมื่อสอนไปจบแผนกหนึ่ง ๆ แล้วก็มีการสอบไล่คราวหนึ่ง ๆ แล้วก็จดแต้มไว้ เมื่อได้สอนและสอบไล่ทุก ๆ แผนกตลอดปีแล้ว เอาแต้มที่ได้ในแผนกนั้น ๆ รวมเข้าด้วยกัน แล้วเอาจำนวนแผนกที่สอบหาร เมื่อได้ผลเท่าใดก็เอาไปรวมกับแต้มที่กรรมการสอบไล่สิ้นปี แล้วเอา ๒ หาร ผลหารนั้นเป็นแต้มที่ได้จากการสอบไล่ใหญ่สิ้นปี

ที่กระทำเช่นนี้เห็นว่าเป็นวิธีดีกว่าวิธีที่ได้กระทำแต่แล้ว ๆ มา ข้อสำคัญที่จะยกว่าดีนั้นก็คือจะให้นักเรียนต้องหมั่นเล่าเรียนเสมอ ด้วยจะทำให้ตนต้องพยายามที่จะมีแต้มในการสอบทุกคราว ถ้ามิฉะนั้น นักเรียนที่ถือว่าตนมีปัญญาดี อาจละเลยการเล่าเรียนเสียครึ่งหรือค่อนปี แล้วจู่เข้ามาจ้ำเรียนเอาปลาย ๆ ปี บางทีก็สอบไล่ได้ การที่สอบไล่ได้โดยที่เล่าเรียนอย่างรีบร้อนชั่วคราวเช่นนี้ เมื่อสำเร็จการเล่าเรียนแล้ว วิชาบางอย่างก็อาจลืมได้โดยง่าย ถ้าต้องเรียนอยู่เนืองนิตย์เช่นนี้ถูกสอบระหว่างปีเช่นนั้นความจำก็จะช่ำชองดีกว่า

๒) การให้แต้มนั้นใช้เกณฑ์แต้ม ๑๒ เป็นจำนวนเต็ม ไม่ว่าวิชาอันใด ใช้แต้ม ๑๒ ทั้งสิ้น ใน ๑๒ แต้มนั้นผู้สอบจะให้เท่าใดก็ได้ในระหว่าง ๐ ถึง ๑๒ แล้วแต่ความเลวความดีของการตอบวิชานั้น

การที่มีเกณฑ์แต้มในการสอบไล่น้อยเช่นนี้เป็นการสะดวกอย่างยิ่งในที่จะวินิจฉัยว่าควรให้มากหรือน้อยเพียงใด ทั้งได้มีปรากฏในข้อบังคับโรงเรียนทหารบกอยู่แล้ว ว่ามีความสามารถเพียงใด ควรให้แต้มเท่าใด ฉะนั้น

๓) ได้เพิ่มหลักสูตรขึ้น คือ นักเรียนห้องชั้น ๓ โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม ซึ่งเป็นห้องสุดท้าย ให้เรียนคำนวณวิธีถึงตริโกณมิต (ตริกโณเมตรี) กับห้องชั้น ๓ โรงเรียนนายร้อยชั้นประถมได้เพิ่มลักษณะปกครองกับเรขาวิธีด้วย และห้องชั้น ๒ ชั้น ๓ โรงเรียนนายร้อยชั้นประถม กับห้องชั้น ๑ ชั้น ๒ โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม ก็ให้เรียนพงศาวดารขึ้นอีกวิชาหนึ่งกับวิชาทหารและวิชาสามัญอื่น ๆ ก็ได้เพิ่มขึ้นอีกมาก ใช่แต่เพิ่มวิชาขึ้นเท่านั้นซ้ำยังต้องมีการเล่าเรียนให้เต็มภาคภูมิตามหลักสูตรจริง ๆ ด้วย กับได้แยกหมวดวิชาทหารออกเป็น ๒ ประเภท คือประเภทการศึกษาและการฝึกหัด รวมวิชาทั้งปวงเป็น ๓ ประเภท ทั้งประเภทวิชาสามัญ

อนึ่ง ยังมีการสอบไล่วิชาครูในชั้นต้นที่จะเข้าเป็นครูให้เห็นว่ามีความรู้ถ่องแท้เพียงไรในการสอบไล่วิชาครูชนิดนี้ ผู้บัญชาการโรงเรียนมักจะทรงประทับสอบด้วย เหตุด้วยจะกลั่นเอาครูที่ดีพอพระทัย เพราะฉะนั้น การที่ต้องสอนวิชาให้เต็มภาคภูมิของหลักสูตร ซึ่งทวีขึ้นตามที่กล่าวมาแล้วนั้น จึงเป็นอันสำเร็จได้

ยังมีการสอบไล่วิชาครูอีกชนิดหนึ่ง โดยที่ผู้บัญชาการทรงตั้งประธานกรรมการและกรรมการให้สอบครูที่ยังไม่มีประกาศนียบัตรครูมากจากกรมศึกษาธิการ เพื่อจะรับเกียรติยศเป็นนายทหารสัญญาบัตรตามซึ่งได้ทรงจัดการขอร้อง ให้ครูมีเกียรติยศเป็นนายทหารสัญญาบัตรขึ้น ดังจะได้กล่าวต่อไปในแผนกครูอาจารย์นั้น หรือครูที่ปรารถนาจะเลื่อนยศหรือชั้นให้สูงขึ้นไป ก็สมัครสอบได้เหมือนกัน และถึงแม้ว่าครูจะได้สอบวิชาสามัญได้แล้วบริบูรณ์ก็ดี เมื่อก่อนเวลาที่จะได้รับยศเป็นนายทหารสัญญาบัตร ก็ต้องสอบไล่แบบฝึกหัดและข้อบังคับ ซึ่งเป็นส่วนวิชาทหารให้ได้เสียก่อนอีกด้วย

การรับสมัครเข้าเป็นนักเรียนนายร้อย ซึ่งแต่เดิมเป็นหน้าที่ของกรมปลัดทัพบก ก็ได้โอนมาในหน้าที่ของกรมบัญชาการโรงเรียนทหารบก และต่อไปจะได้รับบุคคลซึ่งสมัครเป็นนักเรียนนายร้อยนั้นดังนี้

๑) บุตรข้าราชการสัญญาบัตร

๒) ราชนิกูล

๓) ผู้ที่เป็นเชื้อพระวงศ์ ตั้งแต่ชั้นหม่อมหลวงขึ้นไป เข้าเป็นนักเรียนนายร้อยในห้องชั้น ๑ ชั้น ๒ ชั้น ๓ โรงเรียนนายร้อยชั้นประถม และ ชั้น ๑ โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมได้ตามวุฒิ

๔) บุคคลสามัญทั่วไปจะเข้าเล่าเรียนได้แต่เฉพาะในห้องชั้น ๑ โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมเท่านั้น จะไม่รับเข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยชั้นประถมเลยเป็นอันขาด

ต่อมาเมื่อเดือนพฤษภาคม ศกนี้ ได้เปลี่ยนนาม กองร้อยโรงเรียนนายร้อยชั้นประถมคือกองร้อยที่ ๓ เปลี่ยนนามเป็นกองร้อยที่ ๑ กองร้อยที่ ๔ เป็นกองร้อยที่ ๒ เพื่อประสงค์จะไม่ต้องนับเลขหมายกองร้อยลำดับติดต่อกับกับโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม ครั้นต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน ศกนี้ ได้เปลี่ยนนามห้องเรียนโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม คือ ห้องชั้น ๔ เป็นห้องชั้น ๑ ห้องชั้น ๕ เป็นห้องชั้น ๒ ห้องชั้น ๖ เป็นห้องชั้น ๓

ครั้นเมื่อเดือนกรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๘ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้นายร้อยตรีสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนนครราชสีมา สำรองราชการกรมบัญชาการโรงเรียนทหารบก ผู้บัญชาการได้ทรงจัดให้ทรงทำหน้าที่ผู้บังคับหมวดในโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม เพื่อทรงทราบหน้าที่ของผู้น้อยแล้ว และเลื่อนสูงขึ้นไปตามลำดับอย่างนายทหารทั่วไป

ในสมัยนี้มีนักเรียนนายรวมทั้ง ๒ โรงเรียนประมาณ ๑๐๐๐ คนเศษ

อนึ่ง โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมได้ก่อสร้างสำเร็จแล้วเป็นส่วน ๆ เป็นลำดับมา (เริ่มสร้างที่ถนนราชดำเนินตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๔๕ ใช้เงินเหลือปลายปี) และได้รับนักเรียนเข้าประจำเล่าเรียน ตั้งแต่ปี ร.ศ. ๑๒๓ นับได้ประมาณ ๕ ปีเศษมาแล้ว การก่อสร้างพึ่งได้สำเร็จบริบูรณ์เรียบร้อยลงใน ปี ร.ศ. ๑๒๘ นี้ เพราะเหตุฉะนั้นจึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดการพระราชพิธีเปิดโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม กำหนด ณ วันที่ ๒๖ ธันวาคม ศกนี้ ซึ่งเป็นวันมหามงคลสมัย จึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาประทับ ณ สถานโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม พร้อมด้วยพระบรมวงษานุวงศ์ข้าทูลละอองธุลีพระบาท พอได้เวลามหาศุภมงคลฤกษ์ จึงพระทรงกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เปิดโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม เพื่อให้เป็นศิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคล แก่โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม ซึ่งจะได้เป็นสถานศึกษาอันมั่นคงสืบไป

ในวันงานพระราชพิธีเปิดโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานรางวัลแก่นักเรียนนายร้อยที่สอบไล่ได้แต้มมาก ในคราวที่แล้วมานั้นด้วย


ผู้สอบไล่และการให้รางวัลแก่นักเรียน เครื่องแต่งตัว ถืออาวุธ (ตอนที่ ๘)



ิิ

สมัยนายพลตรี พระยาศักดาภอเดชวรฤทธิ์ เป็นผู้บังคับการ (ตอนที่ ๖)

กลับหน้าแรกประวัติ

สมัยนายพลตรี พระยาศักดาภอเดชวรฤทธิ์ เป็นผู้บังคับการ

ครั้นเมื่อล่วงเข้ามาในปี ร.ศ. ๑๒๓ (พ.ศ. ๒๔๔๗) ซึ่งเป็นสมัยนายพลตรีพระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ์ (อุ่ม) เป็นผู้บังคับการ ได้มีนักเรียนทวีมากขึ้น จนเงินตามงบประมาณเงินเดือนนักเรียนมีไม่เพียงพอที่จะเฉลี่ยให้แก่นักเรียนทั่วกัน ที่ประชุมกรมยุทธนาธิการจึงตกลงสั่งให้งดเงินเดือนของนักเรียนเสียทั้งหมด กับทั้งเงินเดือนครูอาสาสอนแบบฝึกหัดและข้อบังคับนั้นด้วย

ครั้นเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ ได้มีนักเรียนทวีมากขึ้น จึงต้องขยายนักเรียนออกเป็น ๓ กองร้อย ได้ยกนักเรียนกองร้อยที่ ๑ คือห้องชั้น ๔ ชั้น ๕ ชั้น ๖ ซึ่งเป็นชั้นสูงไปอยู่โรงเรียนใหม่ที่จัดสร้างขึ้นที่ริมถนนพระราชดำเนินนอกเคียงกับวัดมกุฏกษัตริยาราม ซึ่งมีนามว่าโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมปัจจุบันนี้ แล้วต่อมาเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ร.ศ. ๑๒๔ ได้เพิ่มขึ้นอีก ๑ กองร้อย รวมเป็น ๔ กองร้อย ให้อยู่โรงเรียนละ ๒ กองร้อย ต่อนี้มาก็ได้จัดแก้ไขหลักสูตรเทียบวิชาสามัญนักเรียนนายร้อยชั้น ๑ เท่ากับนักเรียนสามัญชั้นประถม ๒ ห้องชั้น ๒ เท่ากับชั้นประถม ๓ ห้องชั้น ๓ เท่ากับชั้นประถมบริบูรณ์ ห้องชั้น ๔ เท่ากับชั้นมัธยม ๑ ห้องชั้น ๕ เท่ากับชั้นมัธยม ๒ ห้องชั้น ๖ เท่ากับชั้นมัธยมบริบูรณ์ แล้วแก้ไขการสอบไล่ผู้สมัครเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยก็สูงขึ้น กับมีการสอบไล่นักเรียนนายสิบซึ่งกรมทหารบกมณฑล ได้ส่งเข้ามาสมัครเป็นนักเรียนนายร้อยเหมือนเช่นผู้สมัครสามัญ

และต่อมาเมื่อเดือนพฤศจิกายน ร.ศ. ๑๒๕ นายพลเอกสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร ได้เสด็จพระราชทานรางวัลและประกาศนียบัตร แก่นักเรียนนายร้อยทหารบก

ในสมัยนี้มีนักเรียนประมาณ ๘๐๐ คนเศษ

สมัยนายพลตรี สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิศณุโลกประชานาถ ทรงบัญชาการ (ตอนที่ ๗)

สมัยนายพลโท พระยาวงษานุพันธ์ เป็นผู้บังคับการ (ตอนที่ ๕)



กลับหน้าแรกประวัติ




สมัยนายพลโท พระยาวงษานุประพัทธ์ เป็นผู้บังคับการ

ครั้นเมื่อเดือน ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ. ๒๔๔๒) ซึ่งเป็นสมัย นายพลโท พระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์ สท้าน) เป็นผู้บังคับการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมขุนนครราชสิมา ทรงดำรงตำแหน่งเป็นนักเรียนฝึกหัดวิชาทหารพิเศษ ทั้งเป็นการชักนำให้มีพระองค์เจ้าและหม่อมเจ้า สมัครเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยแน่นเนืองขึ้น จนกระทำให้รู้สึกว่าได้เกียรติยศของโรงเรียนนายร้อยได้เพิ่มพูนขึ้นอีกเป็นอันมาก ต่อมาก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นนักเรียนนายร้อยพิเศษอีก ๓ พระองค์คือ ๑) เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช ๒) เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก ๓) เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช และพระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าลงไป กับบุตรผู้มีบรรดาศักดิ์และคนสามัญก็ได้สมัครเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยต่อมาอีกเป็นอันมาก จนตึกหลังใหญ่ด้านถนนบำรุงเมือง ซึ่งเป็นที่อยู่และที่เรียนของนักเรียนนั้นไม่พอ จึงต้องใช้ตึกด้านถนนราชาชินี ซึ่งเป็นโรงเรียนนายสิบนั้นสำหรับให้นักเรียนนายร้อยอยู่อีกหลังหนึ่ง กับดัดแปลงโรงเลี้ยงอาหารเดิมเป็นสองชั้น ชั้นบนให้เป็นที่อยู่ของนักเรียนและชั้นล่างให้คงเป็นที่เลี้ยงอาหารอยู่ตามเดิม

การโรงเรียนเมื่อได้ดำเนินมาถึงเพียงนี้ก็สมบูรณ์มากขึ้นตลอดมาจนถึง ปี ร.ศ. ๑๑๘ นี้ กรมยุทธนาธิการได้ตั้งต้นส่งนักเรียนไปศึกษาวิชาทหารในประเทศเยอรมันนี ๒ นาย ครั้นต่อมาก็ได้ส่งเป็นพิเศษบ้างและส่งตามปกติบ้างทุกปีมา เลยเป็นธรรมเนียมมาจนปัจจุบันนี้

และในศกนี้เอง นักเรียนนายร้อยได้จัดรวมเข้าเป็น ๓ ชั้น คือ

ชั้น ๓ เป็นชั้นสูง

ชั้น ๒ เป็นชั้นรอง

ชั้น ๑ เป็นชั้นต่ำ

ที่จัดตั้งดังนี้เพื่อประสงค์จะต้องการให้นักเรียนออกเป็นนายทหารได้เร็วพลันทันด่วน โดยที่มีการเรียนแต่น้อยชั้น

วันที่ ๒๘ ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานรางวัลแก่นักเรียนประจำศกนี้ พอประจวบเวลากับปรินซ์วัลดิมาเจ้าแห่งประเทศเดนมาร์กได้เสด็จเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในกรุงเทพฯ จึงได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในงานพระราชทานรางวัลนั้นด้วย

ต่อมาเมื่อ ปี ร.ศ. ๑๑๙ มีนักเรียนสมัครเข้ามามมาก จำพวกที่มีวิชาอ่อน ที่จะเข้าเรียนตามหลักสูตรแม้แต่ชั้น ๑ ซึ่งเป็นชั้นต่ำก็ไม่ได้ จึงกลับจัดออกเป็น ๔ ชั้น อย่างเดิม

ครั้นต่อมาเมื่อ วันที่ ๒ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๐ ชั้นเรียนได้แบ่งออกเป็น ๖ ชั้น คือ ชั้น ๑ ชั้น ๒ ชั้น ๓ เป็นนักเรียนชั้นสามัญ และชั้น ๔ ชั้น ๕ ชั้น ๖ เป็นนักเรียนชั้นสูง

ครั้นเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๒ (พ.ศ. ๒๔๔๖) กรมยุทธนาธิการได้จัดให้กองโรงเรียนนายร้อยกับกรมยุทธศึกษา ขึ้นตรงต่อกรมยุทธนาธิการ ผู้บังคับการโรงเรียนกับเจ้ากรมยุทธศึกษา ได้มีเกียรติยศเป็นชั้นหัวหน้าอันมีในกรมยุทธนาธิการ เสมอกับผู้บัญชาการทหารบกมณฑล

และในศกนี้เอง กรมยุทธนาธิการได้แยกโรงเรียนนายสิบออกจากโรงเรียนนายร้อย คงเหลืออยู่แต่นักเรียนนายร้อยตามเดิม เพราะฉะนั้น นามของโรงเรียนคงเรียกว่า โรงเรียนนายร้อยทหารบก

ในปี ร.ศ. ๑๒๒ นี้ การรับบุคคลเข้าเป็นนักเรียนนั้นได้มีข้อบังคับเปลี่ยนแปลงไปบ้างคือ

๑) ต้องรับอนุญาตจากผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ แล้วเข้าสอบไล่ต่อกรรมการ ซึ่งโรงเรียนนายร้อยทหารบกได้จัดตั้งขึ้น

๒) ไม่เป็นผู้เสียชื่อเสียงและไม่เป็นบุตรผู้เสียชื่อเสียง

๓) นอกจาก ๒ ข้อข้างบนนี้ ก็คงเหมือนอย่างที่แล้วมาในสมัยนี้ มีนักเรียนประมาณ ๔๐๐ คน


สมัยนายพลตรี พระยาศักดาภอเดชวรฤทธิ์ เป็นผู้บังคับการ (ตอนที่ ๖)


กลับหน้าแรกประวัติ


สมัยนายพลโท พระยาสีหราชเดโชชัย เป็นผู้บังคับการ (ตอนที่ ๔)

กลับหน้าแรกประวัติ


สมัยนายพลโท พระยาสีหราชเดโชชัย เป็นผู้บังคับการ

ครั้นต่อมาเมื่อ ปี ร.ศ. ๑๑๑ (พ.ศ. ๒๔๓๕) ซึ่งเป็นเวลาล่วงเข้าสมัยนายพลโท พระยาสีหราชเดโชชัย (หม่อมราชวงศ์ อรุณ) เป็นผู้บังคับการ และนายพันเอกพระสารสาสน์พลขันธ์ เมื่อครั้งเป็นร้อยเอกเยรินีเป็นอาจารย์ใหญ่ พอประจวบกับเวลาที่โรงเรียนหลังใหญ่ด้านเหนือริมถนนบำรุงเมือง ได้แล้วเสร็จบริบูรณ์ จึงได้จัดห้องอยู่และห้องเรียนใหม่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อนักเรียนได้มาอยู่ที่โรงเรียนเหล่าใหญ่นี้ ได้มีการเสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงเรียนเป็นการใหญ่ในวันที่ ๒๖ กันยายน รศ.๑๑๑ ( ยุทธโกษเล่ม ๑ หน้า ๖,๑๐๒ ว่าเปิดเมื่อ ๒๔ ก.ย. ๒๔๓๕) และต่อมากรมยุทธนาธิการก็ได้ตราข้อบังคับโรงเรียนขึ้นเป็นครั้งแรก ขนานนามโรงเรียนโดยชัดเจนว่า โรงเรียนทหารสราญรมย์(ชื่อนี้มีมาแต่ ๑๔ พ.ค. ๒๔๓๐ ตามข้อบังคับกรมทหารบกคำสั่งที่ ๓ บัญญัติโรงเรียนทหารสราญรมย์)

ในสมัยนี้นักเรียนได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๔ บาท วิชาที่เรียนก็เปลี่ยนรูปไปบ้าง คือ ได้ตัดเอายุคลิด และวิชาช่างไม้ออกเสีย ส่วนประเภทวิชาอื่น ๆ ที่ยังคงมีอยู่นั้นก็ให้เรียนพิสดารมากออกไป ต่อมาได้ตั้งต้นมีการสอบไล่ใหญ่สิ้นปี ในที่ประชุมนายทหารเป็นกรรมการแล้ว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานประกาศนียบัตร และรางวัลแก่นักเรียนที่มีความรู้สอบไล่ได้เลื่อนชั้นนั้น เมื่อเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลนักเรียนในคราวนี้ (ยุทธโกษเล่ม ๔ หน้า ๑๙๗,๑๘๙ เมื่อ ๒๘ พ.ย. ๒๔๓๘)ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานตุ๊กตารูปนายทหารท่าแทงกระบี่แก่ผู้บังคับการโรงเรียนคู่หนึ่ง เพื่อประดิษฐานไว้เป็นที่ระลึกแกโรงเรียนต่อไป และในสมัยนี้ได้ขนานนามโรงเรียนใหม่อีกครั้งหนึ่งว่า โรงเรียนนายร้อยทหารบก (เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๑ ตามทำเนียบยังเรียกว่า โรงเรียนทหารบก ประกอบด้วยโรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยม และ โรงเรียนนายร้อยชั้นปฐม คำว่าโรงเรียนนายร้อยทหารบกยังไม่มี ?)

ครั้นเมื่อปี ร.ศ. ๑๑๖ (พ.ศ. ๒๔๔๐) สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์ ในขณะเสด็จพระราชดำเนินประพาสทวีปยุโรปครั้งที่ ๑ เสด็จพระราชดำเนินตรวจการในโรงเรียน

อนึ่ง ใน ปี ร.ศ. ๑๑๖ นน ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นนักเรียนนายร้อยพิเศษ ๒ พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์วรพินิต และสมเด็จลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนพิศณุโลกประชานาถ

ครั้นเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ร.ศ.๑๑๖ ได้ยกเอากองนักเรียนนายสิบมาสมทบกับโรงเรียนนายร้อย รวมขึ้นอยู่ในความปกครองของผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อย จึงจัดให้นักเรียนนายสิบไปเรียนอยู่ในห้องเรียนด้านถนนราชินี ฝ่ายแผนกนักเรียนนายร้อยเป็นกองร้อยที่ ๑ ฝ่ายแผนกนักเรียนนายสิบเป็นกองร้อยที่ ๒ แต่นั้นมาโรงเรียนจึงได้เปลี่ยนนามว่า โรงเรียนสอนวิชาการทหารบก (พ.ร.บ. เพิ่มเติมจัดการกรมยุทธนาธิการ ร.ศ. ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓) เรียกว่าโรงเรียนสอนวิชาทหารบกก่อนหน้านี้ ๘ ปี)

เมื่อได้รวมนักเรียนนายร้อยกับนายสิบเข้าอยู่ในความบังคับการเดียวกันแล้ว จึงเผยโอกาสให้นักเรียนนายสิบ ที่สอบไล่ได้จากชั้นสูงสุดของนักเรียนนายสิบ และได้แต้มวิชาเป็นที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ให้เป็นนักเรียนนายร้อยชั้น ๑ ซึ่งตรงกับชั้น ๑ โรงเรียนนายร้อยชั้นมัธยมปัจจุบันนี้

ครั้น ณ ปี ร.ศ. ๑๑๗ ได้ตั้งกรมเสนาธิการขึ้น (๑ เม.ย. ๒๔๔๑) และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้นายพลเอกพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นนายร้อยเอกพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจระประวัติวรเดช ทรงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบกกรมยุทธนาธิการได้จัดให้กองโรงเรียนนายร้อยกรมยุทธศึกษา (ซึ่งตั้งขึ้นโดยที่จะได้กล่าวต่อไปข้างหน้าในเรื่องครูอาจารย์นั้น) ขึ้นอยู่ในกรมเสนาธิการด้วยกัน ระหว่างนี้กรมเสนาธิการได้จัดให้มีพระองค์เจ้าและหม่อมเจ้ากับบุตรข้าราชการสมัครเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยอีกโดยมาก แล้วกรมเสนาธิการได้จัดให้บรรดานักเรียนนายร้อยทั้งเก่าใหม่ นำดอกไม้ธูปเทียนไปทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ถวายตัวที่สนามหญ้าหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และได้นำไปถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามแต่ศกนั้นเป็นปฐมมา

ครั้ง ณ วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ร.ศ. ๑๑๗ ได้เปลี่ยนนามโรงเรียน ขนานนามว่า โรงเรียนทหารบก และในศกนี้เองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานรางวัลแก่นักเรียน และพระราชทานพระบรมราชวโรกาส ให้เคาน์ออฟตุรินเจ้าแห่งประเทศอิตาลีมาเฝ้าในเวลานี้ด้วย แล้วต่อมาได้เพิ่มวิชาสรรพวุธวิธีและได้เพิ่มการฝึกหัดยุทธกรรม คือจัดให้นักเรียนไปซ้อมรบที่เมืองราชบุรี การซ้อมรบหรือการฝึกหัดยุทธกรรมก็เลยมีแต้มอีกส่วนหนึ่งเข้าบวกกับแต้มวิชาอื่น ๆ ในการสอบไล่นักเรียนแต่นั้นมา

อนึ่ง กรมยุทธนาธิการได้เลิกถอนตำแหน่งนายสิบประจำกองนักเรียน และได้เลือกตั้งนักเรียนให้เป็นหัวหน้าหมวด หมวดละคน กับหัวหน้าห้องเรียนตอนละคน และให้รับพระราชทานเงินเดือน ตามชั้นหัวหน้าหมวดเดือนละ ๑๖ บาท และหัวหน้าห้องเดือนละ ๘ บาท

ครั้น ณ วันที่ ๑ ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๗ ได้รับบุคคลเข้าเป็นนักเรียนตามข้อบังคับ ๔ ประการ คือ

๑) ต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตจากกรมเสนาธิการ ให้กรมยุทธศึกษาสอบวิชา

๒) ต้องเป็นผู้ที่กรมยุทธศึกษาสอบวิชาได้แล้วในชั้นหนึ่งชั้นใดตามความสามารถ

๓) ต้องเป็นผู้มีกิริยาอันสุภาพไม่เสียชื่อเสียง ทั้งปราศจากโรคและพิการต่าง ๆ

๔) เมื่อได้ตามข้อบังคับทั้ง ๓ ที่กล่าวแล้วนี้จึงจะได้รับอนุญาตจากกรมเสนาธิการให้เข้าเป็นนักเรียนนายร้อยได้

ในสมัยนี้มีนักเรียนประมาณ ๑๗๐ คนเศษ


สมัยนายพลโท พระยาวงษานุพันธ์ เป็นผู้บังคับการ (ตอนที่ ๕)


สมัยนายพลโท เจ้าพระยาสุรวงษ์วัฒนาศักดิ์ (โต) เป็นผู้บังคับการ (ตอนที่ ๓)

กลับหน้าแรกประวัติ


สมัยนายพลโท เจ้าพระยาสุรวงษ์วัฒนาศักดิ์ (โต) เป็นผู้บังคับการ

ครั้นต่อมาเมื่อปี ร.ศ. ๑๐๗ ซึ่งล่วงเข้ามาในสมัยที่ นายพลโท เจ้าพระยาสุรวงษ์วัฒนศักดิ์ (โต) เป็นผู้บังคับการ ได้เพิ่มตำแหน่งนายทหารสัญญาบัตร เป็นปลัดกอง ๑ นาย แล้วจัดนักเรียนห้อง A คือห้อง ซีเนีย ขึ้นทำการตำแหน่งนายร้อยตรี เป็นผู้ช่วยควบคุมนักเรียนอีก ๑ นาย การฝึกหัดทหารราบในเวลานั้นเป็นหน้าที่ปลัดกองเป็นผู้ฝึกหัดและประจำปกครองนักเรียนเหล่านั้นด้วยกับพอประจอบกับโรงเรียนข้างด้านตะวันออกริมถนนราชินี (คืออาคารกรมแผนที่ทหารด้านหลองหลอด) ได้สร้างสำเร็จขึ้นอีกหลังหนึ่ง จึงได้จัดนักเรียนขึ้นอยู่ชั้นบน ชั้นล่างจัดเป็นห้องเรียน ๔ ห้อง กับได้เปลี่ยนแปลงจัดชั้นห้องเรียนดังนี้ คือ

ห้อง ๑ เป็นห้องชั้นสูง

ห้อง ๒ เป็นห้องชั้นรอง

ห้อง ๓ เป็นห้องชั้นต่ำ

ห้อง ๔ เป็นห้องชั้นต่ำที่สุด

และได้เพิ่มวิชาที่เรียนขึ้นในระหว่างนี้อีก คือ

วิชาช่างไม้

วิชาเค็มมิสสตรี (วิชาแปรธาตุ)

วิชาปืนใหญ่

วิชาขี่ม้า

วิชากายกรรม

วิชาสาตรากรรม

วิชาซิกแนลลิง (ธงและโคมสัญญา)

วิชาสร้างสะพานและผูกเชือก

ภายหลังได้จัดเพิ่มให้มีนายทหารสัญญาบัตร ขึ้นประจำกองอีก ๓ นาย และเลื่อนยศตำแหน่งจ่านายสิบยกระบัตร ขึ้นเป็นยศนายร้อย กับได้เปลี่ยนแปลงจัดชั้นนักเรียนใหม่เข้าหาประโยควิชา คือ

ห้องชั้น ๓ เป็นชั้นสูง

ห้องชั้น ๒ เป็นชั้นรอง

ห้องชั้น ๑ เป็นชั้นต่ำ

ห้องชั้นเล็กเป็นชั้นต่ำสุด

เพื่อให้ต้องตามวิธีจัดระเบียบการสอบไล่วิชานักเรียน

ในสมัยนี้มีนักเรียนประมาณ ๑๐๐ คนเศษ



สมัยนายพลโท พระยาสีหราชเดโชชัย เป็นผู้บังคับการ (ตอนที่ ๔)




สมัยนายพันเอก วอล์เกอร์เป็นผู้บัญชาการ (ตอนที่ ๒)

กลับไปหน้าแรกประวัติ


การปกครองและการศึกษา

สมัย นายพันเอก วอล์เกอร์เป็นผู้บัญชาการ

การปกครองในปีกุญนพศก จุลศักราช ๑๒๔๙ (๒๔๓๐) ซึ่งเป็นปฐมกาลของโรงเรียนนั้นได้จัดกองนักเรียนเป็น ๑ กองร้อย มีอัตรานักเรียนเพียง ๒๐๐ คน มีนายพันเอกเป็นผู้บังคับการ ๑ ผู้บังคับการนั้นได้มีหน้าที่นอกจากปกครองแล้ว ยังต้องฝึกหัดและสั่งสอนวิชาทหารด้วย ถัดตำแหน่งผู้บังคับการลงมา มีจ่านายสิบเป็นผู้ช่วยปกครอง ๑ จ่านายสิบยกระบัตร ๑ จ่านายสิบเกียกกาย ๑ และมีครูอาจารย์พอสมควร และในจำนวนครูอาจารย์นี้เป็นชาวยุโรปอยู่ด้วยหลายนาย และการรักษาพยาบาลนั้นได้ตั้งนายแพทย์ตรวจเป็นคราวๆ หรือเมื่อมีการจำเป็นก็เรียกมาตรวจและรักษาพยาบาล

ส่วนกองร้อยนักเรียนต้องมีอายุตั้งแต่ ๑๔ ปี ถึง ๒๔ ปี และเป็นผู้ที่แพทย์ได้ตรวจแล้วเห็นว่าสมควรจะเป็นทหารได้ ทั้งมีความรู้หนังสือไทยอ่านออกเขียนได้ และเป็นผู้มิได้ประพฤติความชั่ว เป็นพาลทุจริต กับเป็นผู้ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองแล้วดังนี้ กรมยุทนาธิการจึงจะอนุญาตให้เป็นนักเรียนได้

เมื่อเป็นนักเรียนแล้วถือศักดินา ๔๐๐ ไร่ (สมัยนั้น ร.ต. มีศักดินา ๖๐๐, ส.อ.ศักดินา ๔๐๐, พลทหาร ๕๐) และได้รับพระราชทานเงินเดือน เดือนละ ๑๒ บาท กับเครื่องอุปโภคบริโภคตามสมควร

การสอบไล่นักเรียนมีปีละครั้ง เมื่อนักเรียนคนใดสอบไล่ได้ตามหลักสูตรแล้ว ก็จะได้รับตำแหน่งเป็นนายทหารชั้นนายร้อยตรีประจำกรมและกองต่อไป

ห้องเรียนได้แบ่งออกเป็น ๔ ชั้น คือ

ห้อง A เป็นชั้นสูง (ชั้นซีเนีย)

ห้อง B เป็นชั้นรอง

ห้อง C เป็นชั้นต่ำ

ห้อง D เป็นชั้นต่ำที่สุด

วิชาที่เรียน

วิชาทหาร

๑) ยุทธวิธี และยุทธศาสตร์

๒) ป้อมค่าย

๓) แผนที่

การฝึกหัด

๑) ฝึกหัด ทหารราบ

วิชาสามัญ

๑) วิชาหนังสือไทย

๒) วิชาคำณวนวิธี

(ก) วิชาเลข

(ข) ยุคลิด

๓) ภูมิศาสตร์

๔) วาดเขียน

๕) ภาษาอังกฤษ

การศึกษาแต่ครั้งปฐมกาลของโรงเรียนนี้นั้น ถึงแม้ว่าแบบฉบับตำรายังมีไม่สมบูรณ์เหมือนสมัยปัจจุบันนี้ ทั้งครูอาจารย์ สำหรับวิชาที่สำคัญเล่าก็เป็นชาวยุโรป ซึ่งภาษาไทยไม่พอเพียงแก่จำนวนคำที่ใช้ในวิชาดังนั้นก็ดี ถึงกระนั้นนักเรียนสมัยโน้นก็ยังอุตสาหสะสมเอาพืชผลความรู้ไว้ได้ แล้วนำเอาออกหว่านให้งอกงามเจริญขึ้นทุกปีมา จนสามารถอาจเป็นเสนาครอบงำจังหวัดทหารอันใหญ่หลวงไว้สมบูรณ์ได้ เช่นนายพลตรีพระยาพหลพลพยุหเสนา (นพ) เป็นต้น ซึ่งเดิมเป็นนักเรียนออกแต่ปี ร.ศ. ๑๐๗ (พ.ศ.๒๔๓๑) ท่านยังสามารถเป็นผู้บัญชาการกองพลประจำมณฑลได้ดีอย่างยิ่งยวด ยังท่านอื่นๆ ที่มีนามปรากฏอยู่แล้วอีกหลายท่าน ทั้งนี้ก็เป็นพยานให้เห็นได้ว่า มรรคผลที่ได้จากปฐมวัย ของโรงเรียนนั้นอาจเป็นได้ถึงเพียงนี้ ส่วนมรรคผลที่ได้จากสมัยต่อๆ มาจนบัดนี้นั้นไม่จำเป็นต้องกล่าว



สมัยนายพลโท เจ้าพระยาสุรวงษ์วัฒนาศักดิ์ (โต) เป็นผู้บังคับการ (ตอนที่ ๓)