วันจันทร์ที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2551

สมัยนายพลโท พระยาวงษานุพันธ์ เป็นผู้บังคับการ (ตอนที่ ๕)



กลับหน้าแรกประวัติ




สมัยนายพลโท พระยาวงษานุประพัทธ์ เป็นผู้บังคับการ

ครั้นเมื่อเดือน ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๘ (พ.ศ. ๒๔๔๒) ซึ่งเป็นสมัย นายพลโท พระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์ สท้าน) เป็นผู้บังคับการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมขุนนครราชสิมา ทรงดำรงตำแหน่งเป็นนักเรียนฝึกหัดวิชาทหารพิเศษ ทั้งเป็นการชักนำให้มีพระองค์เจ้าและหม่อมเจ้า สมัครเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยแน่นเนืองขึ้น จนกระทำให้รู้สึกว่าได้เกียรติยศของโรงเรียนนายร้อยได้เพิ่มพูนขึ้นอีกเป็นอันมาก ต่อมาก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ทรงดำรงตำแหน่งเป็นนักเรียนนายร้อยพิเศษอีก ๓ พระองค์คือ ๑) เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช ๒) เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก ๓) เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช และพระราชวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าลงไป กับบุตรผู้มีบรรดาศักดิ์และคนสามัญก็ได้สมัครเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยต่อมาอีกเป็นอันมาก จนตึกหลังใหญ่ด้านถนนบำรุงเมือง ซึ่งเป็นที่อยู่และที่เรียนของนักเรียนนั้นไม่พอ จึงต้องใช้ตึกด้านถนนราชาชินี ซึ่งเป็นโรงเรียนนายสิบนั้นสำหรับให้นักเรียนนายร้อยอยู่อีกหลังหนึ่ง กับดัดแปลงโรงเลี้ยงอาหารเดิมเป็นสองชั้น ชั้นบนให้เป็นที่อยู่ของนักเรียนและชั้นล่างให้คงเป็นที่เลี้ยงอาหารอยู่ตามเดิม

การโรงเรียนเมื่อได้ดำเนินมาถึงเพียงนี้ก็สมบูรณ์มากขึ้นตลอดมาจนถึง ปี ร.ศ. ๑๑๘ นี้ กรมยุทธนาธิการได้ตั้งต้นส่งนักเรียนไปศึกษาวิชาทหารในประเทศเยอรมันนี ๒ นาย ครั้นต่อมาก็ได้ส่งเป็นพิเศษบ้างและส่งตามปกติบ้างทุกปีมา เลยเป็นธรรมเนียมมาจนปัจจุบันนี้

และในศกนี้เอง นักเรียนนายร้อยได้จัดรวมเข้าเป็น ๓ ชั้น คือ

ชั้น ๓ เป็นชั้นสูง

ชั้น ๒ เป็นชั้นรอง

ชั้น ๑ เป็นชั้นต่ำ

ที่จัดตั้งดังนี้เพื่อประสงค์จะต้องการให้นักเรียนออกเป็นนายทหารได้เร็วพลันทันด่วน โดยที่มีการเรียนแต่น้อยชั้น

วันที่ ๒๘ ธันวาคม ร.ศ. ๑๑๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานรางวัลแก่นักเรียนประจำศกนี้ พอประจวบเวลากับปรินซ์วัลดิมาเจ้าแห่งประเทศเดนมาร์กได้เสด็จเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในกรุงเทพฯ จึงได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในงานพระราชทานรางวัลนั้นด้วย

ต่อมาเมื่อ ปี ร.ศ. ๑๑๙ มีนักเรียนสมัครเข้ามามมาก จำพวกที่มีวิชาอ่อน ที่จะเข้าเรียนตามหลักสูตรแม้แต่ชั้น ๑ ซึ่งเป็นชั้นต่ำก็ไม่ได้ จึงกลับจัดออกเป็น ๔ ชั้น อย่างเดิม

ครั้นต่อมาเมื่อ วันที่ ๒ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๐ ชั้นเรียนได้แบ่งออกเป็น ๖ ชั้น คือ ชั้น ๑ ชั้น ๒ ชั้น ๓ เป็นนักเรียนชั้นสามัญ และชั้น ๔ ชั้น ๕ ชั้น ๖ เป็นนักเรียนชั้นสูง

ครั้นเมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๒๒ (พ.ศ. ๒๔๔๖) กรมยุทธนาธิการได้จัดให้กองโรงเรียนนายร้อยกับกรมยุทธศึกษา ขึ้นตรงต่อกรมยุทธนาธิการ ผู้บังคับการโรงเรียนกับเจ้ากรมยุทธศึกษา ได้มีเกียรติยศเป็นชั้นหัวหน้าอันมีในกรมยุทธนาธิการ เสมอกับผู้บัญชาการทหารบกมณฑล

และในศกนี้เอง กรมยุทธนาธิการได้แยกโรงเรียนนายสิบออกจากโรงเรียนนายร้อย คงเหลืออยู่แต่นักเรียนนายร้อยตามเดิม เพราะฉะนั้น นามของโรงเรียนคงเรียกว่า โรงเรียนนายร้อยทหารบก

ในปี ร.ศ. ๑๒๒ นี้ การรับบุคคลเข้าเป็นนักเรียนนั้นได้มีข้อบังคับเปลี่ยนแปลงไปบ้างคือ

๑) ต้องรับอนุญาตจากผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ แล้วเข้าสอบไล่ต่อกรรมการ ซึ่งโรงเรียนนายร้อยทหารบกได้จัดตั้งขึ้น

๒) ไม่เป็นผู้เสียชื่อเสียงและไม่เป็นบุตรผู้เสียชื่อเสียง

๓) นอกจาก ๒ ข้อข้างบนนี้ ก็คงเหมือนอย่างที่แล้วมาในสมัยนี้ มีนักเรียนประมาณ ๔๐๐ คน


สมัยนายพลตรี พระยาศักดาภอเดชวรฤทธิ์ เป็นผู้บังคับการ (ตอนที่ ๖)


กลับหน้าแรกประวัติ


ไม่มีความคิดเห็น: