วันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2551

พระราชภารกิจของ องค์ ผอ.กปศ.สกศ.รร.จปร.

กลับหน้าแรก Blog



พระราชภารกิจของพลโทหญิง

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระยศในขณะนั้น ๒๕๓๖)

ที่ กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา

โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

ร.ท.ศรศักร ชูสวัสดิ์

พลโทหญิง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเข้ารับราชการเป็นอาจารย์กองวิชากฎหมายและสังคมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ ทรงสอนวิชาต่างๆ เช่นประวัติศาสตร์ไทย สังคมวิทยา จนกระทั่งเมื่อมีการตั้งกองวิชาประวัติศาสตร์ (กปศ.) ในปี พ.ศ.๒๕๓๐ จึงทรงมีพระราชภารกิจเพิ่มขึ้น โดยทรงดำรงตำแหน่งหัวหน้ากอง (ซึ่งต่อมามีการขยายตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกอง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒ พร้อมกับกองวิชาอื่นๆ) ดังนั้น พระราชภารกิจ พลโทหญิง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นับแต่การตั้ง กปศ. มาถึงปัจจุบัน จึงมีการบริหาร การสอน และงานวิชาการอื่นๆ ดังนี้

งานบริหาร ในฐานะองค์ ผอ. กองฯ ทรงบริหารงานภายใน กปศ. ให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุภารกิจ โดยมีรองผู้อำนวยการกอง (พ.อ.หญิง ศรีสุนทร นาคะอภิ) พ.ศ. ๒๕๓๐ ๒๕๓๔ และ พ.อ.หญิง ประไพพิศ วรวัฒนชัย พ.ศ. ๒๕๓๔ ปัจจุบัน) รับสนองพระราชดำริต่างๆ ในแต่ละภาคการศึกษาทรงจัดให้มีการประชุมนายทหารประจำกอง (อาจารย์และเจ้าหน้าที่) อยู่เสมอ เพื่อให้มีการชี้แจงความก้าวหน้าในการทำงาน ร่วมกันพิจารณาเรื่องการเรียนการสอน เช่น กำหนดหัวข้อที่จะสอนในวิชาบังคับ (พื้นฐานอารยธรรมไทย และประวัติศาสตร์โลก) พิจารณาปรับปรุงเนื้อหาวิชาและวิธีการสอน พิจารณาผลการเรียนของนักเรียนนายร้อย การกำหนดแผนงานต่างๆ เช่นการทัศนศึกษา การวิจัย การสัมมนา ฯลฯ นอกจากนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องใช้สำนักงานต่างๆ เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายสำเนาเอกสาร ทำให้งานของ กปศ. ดำเนินไปได้ด้วยดี นอกจากนี้ยังทรงสนับสนุนให้อาจารย์ได้เข้าร่วมสัมมนาวิชาการและศึกษาต่อ

งานการสอน พระราชภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งคืองานสอน ทรงให้ความสำคัญของการเป็นครูและการค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อถ่ายให้ นนร. ทั้งในด้านวิชาการและประสบการณ์ ทรงสอนด้วยพระองค์เองในหลายวิชาและหลายหัวข้อ วิชาที่ทรงรับผิดชอบได้แก่วิชาพื้นฐาน อารยธรรมไทย (บังคับ) วิชาประวัติศาสตร์โลก (บังคับ) วิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เลือก) วิชาประวัติศาสตร์ไทย (เลือก) ส่วนวิชาอื่นๆ เช่นประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออก ประวัติศาสตร์อเมริกา ทรงบรรยายพิเศษ โดยทั่วไปแล้ว แม้มิได้ทรงสอนเองก็ทรงเสด็จฯ ประทับฟังอาจารย์อื่นๆ บรรยาย

ในการทรงสอนแต่ละครั้ง ทรงใช้สื่อการสอนต่างๆ เพื่อให้ นนร. ติดตามเรื่องราวได้ง่าย เช่น ทรงใช้แผ่นใสฉายหัวข้อสำคัญ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดมุมย่อยๆ เพื่อติดภาพ โปสเตอร์ หนังสือ ตำราที่เกี่ยวข้องในหัวข้อที่มีการบรรยาย บอร์ด ข่าวเหตุการณ์ปัจจุบัน แผนที่ สิ่งของ ฯลฯ จัดแสดงให้นักเรียนนายร้อยได้ดู และหากเห็นว่า หนังสือเล่มใดที่มีประโยชน์จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดหาพระราชทานเก็บไว้ที่ห้องสมุด กปศ. เสมอ บางครั้งทรงนำหนังสือหายากใส่กระเป๋าหลายๆ ใบ เพื่อทรงแสดงให้ นนร. ดู ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ ทรงผลิตเอกสารประกอบการสอนพระราชทานแก่ นนร. อยู่เสมอ ดังนั้นในรายการบัญชีเอกสารประกอบคำสอนที่ทรงพระราชทานแก่ นนร. จึงมีรายการอยู่จำนวนมาก (โปรดดูรายละเอียดในประวัติกองวิชาประวัติศาสตร์และภารกิจ) และในขณะที่ประทับฟังอาจารย์อื่นๆ สอน หาก นนร. ต้องการทราบคำอธิบายเพิ่มเติมก็จะพระราชทานความรู้เสริมให้ด้วย นับเป็นความร่วมมือระหว่างอาจารย์ด้วยกัน เพื่ออธิบายความรู้ให้กระจ่างชัด

ในปี ๒๕๓๔ ได้ทรงเริ่มนำเทคโนโลยีแบบใหม่มาทรงใช้ในการสอน นอกเหนือจากอุปกรณ์อื่นๆ คือ ทรงจัดทำสไลด์มัลติวิชั่นในวิชาพื้นฐานอารยธรรมไทย และวิชาประวัติศาสตร์โลก เพื่อสร้างภาพรวมให้ นนร. ได้เข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น ปัจจุบันมีทั้งหมด ๔ ชุด ดังนี้

สายธารแห่งอารยธรรมไทย (ภาคสอง ๒๕๓๔)

มองโลกร่วมสมัย (ภาคต้น, ๒๕๓๕) (ปรับปรุงภาคต้น, ๒๕๓๖)

ปริทัศน์แดนมังกร (ภาคต้น, ๒๕๓๕)

เบิกฟ้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ภาคต้น, ๒๕๓๕)

ทั้งนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ได้ให้ความร่วมมือในการผลิต

ทัศนศึกษา ทรงส่งเสริมให้ นนร. ที่เรียนวิชาประวัติศาสตร์ต่างๆ ได้มีโอกาสไปทัศนศึกษา โดยทรงเสด็จฯ นำเกือบทุกครั้ง (โปรดดูรายละเอียดในประวัติ กปศ.)

งานวิจัย ได้ทรงมีส่วนร่วมในงานค้นคว้าวิจัย เพื่อเขียนบทความเรื่อง นครนายกกับสงครามโลกครั้งที่ ๒ เสนอให้การสัมมนาทางวิชาการเรื่อง ภาษากับประวัติศาสตร์และความเคลื่อนไหวในวิชาประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งสมาคมประวัติศาสตร์แห่งประเทศไทยและโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าจัดขึ้น เมื่อ ๑๖ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และเรื่อง โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ากับสยามใหม่ในช่วง พ.ศ. ๒๔๒๐ ๒๔๗๕ เสนอในการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง หนึ่งศตวรรษสยามใหม่กับเส้นทางสู่อนาคต ซึ่งสมาคมประวัติศาสตร์แห่งประเทศไทย และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าจัดขึ้นเมื่อ ๑๔ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ ที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

ปัจจุบันทรงเป็นประธานโครงการวิจัยของ กปศ. หัวข้อเรื่อง ประวัติศาสตร์เมืองนครนายก ซึ่งได้รับเงินงบประมาณการวิจัยจากกองทัพบก ในส่วนของการวิจัยหัวข้อนี้ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ให้ผู้เขียน อาจารย์ กปศ. เดินทางไปค้นคว้าข้อมูลเรื่องนี้จากเอกสารประวัติศาสตร์ที่หอจดหมายเหตุสาธารณะที่กรุงลอนดอน อังกฤษ ในช่วงปิดภาคในต้นปี ๒๕๓๕ และ ๒๕๓๖ ด้วย

ความเจริญเติบโตของกองวิชาประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในด้านต่างๆ ชั่วระยะเวลา ๖ ปี นั้นจึงเป็นผลสำคัญมาจากพระปรีชาสามารถ พระวิริยะอุตสาหะ และพระมหากรุณาธิคุณใน พลโทหญิง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อย่างไม่อาจปฏิเสธได้

อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวสรุปข้างต้นนั้น เป็นเพียงพระราชกิจที่เกี่ยวกับ กปศ.ฯ โดยเฉพาะและเพียงบางส่วนเท่านั้น แท้จริงแล้ว ตลอดระยะเวลาทรงรับราชการที่ รร.จปร. พลโทหญิง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณด้านต่างๆ แก่ข้าราชการ นนร. ลูกจ้าง และพสกนิกรชาวนครนายกอย่างไม่อาจพรรณนาได้หมด





หมายเหตุหมายเหตุ บทความคัดลอกจากหนังสือ ประวัติศาสตร์ : สายธารสู่อนาคต จัดพิมพ์เนื่องในวโรกาส พลโทหญิง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคาร กองวิชาประวัติศาสตร์ ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า นครนายก ๒๖ ธันวาคม ๒๕๓๖

กลับหน้าแรก Blog


………………….

ไม่มีความคิดเห็น: